posttoday

ถก'ดาต้าแชริ่ง'

26 ตุลาคม 2561

งานสัมมนา "The Power of Data Sharing and Business Opportunity in Thailand" ชำแหละปัญหาในการแลกเปลี่ยนข้อมูลในปัจจุบัน

โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์

ในงานสัมมนา "The Power of Data Sharing and Business Opportunity in Thailand" ที่จัดโดยมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (iTIC) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

นินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย เปิดเผยว่า 8 ปีของการก่อตั้งมูลนิธิคือการรวบรวมข้อมูลด้านจราจร ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน โดยหลังจากนี้จะต่อยอดเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ ด้วยการร่วมมือกับสปริงนิวส์ ติดกล้องบนป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ (บิลบอร์ด) ในแยกต่างๆ ทั่ว กทม. เพื่อนำข้อมูลและรูปแบบดำเนินโครงการลงสู่พื้นที่ต่างจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ และพัทยา รวมถึงร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมแก้ปัญหาจราจรอย่างยั่งยืน

"หวังว่าข้อมูลที่มูลนิธิรวบรวมมาเพื่อแบ่งปันสู่สาธารณะ จะเกิดการนำไปพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ เพื่อให้ประเทศชาติก้าวหน้าไปยุคไทยแลนด์ 4.0" นินนาท กล่าว

ด้าน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า การเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนในยุคดิจิทัลมีความสำคัญ ซึ่งกระทรวงเร่งพัฒนามาตลอด ซึ่งหลังจากนี้จะใช้ข้อมูลที่ได้รับการแชร์มาจากหน่วยงานต่างๆ รวมไว้ด้วยกันเพื่อบริหารจัดการสัญญาณจราจรยุคใหม่ ทั้งนี้ ดาต้า แชริ่ง จะถูกนำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูล ต่างๆ ในระบบ รวมถึงการเชื่อมโยงการเดินทางสาธารณะด้วยบัตรโดยสารเพียงใบเดียว รวมถึงในอนาคตจะรองรับสังคมไร้เงินสด (Cashless Society)

สมประสงค์ สัตยมัลลี ผู้อำนวยการสำนักธุรกิจบัตรโดยสาร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอให้บัตรเครดิตสามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนได้ โดยร่วมกับบัตรเครดิตกรุงไทย คาดปลายปี 2562 จะแล้วเสร็จ โดย 2 เส้นทางแรกที่จะเปิด คือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสีม่วง ในอนาคตมองว่าสามารถ ใช้สมาร์ทวอตช์และอาจจะเป็นบัตรประชาชนในการยืนยันตัวตนสำหรับใช้เดินทางได้ โดยดาต้า แชริ่งจะทำนายปัญหาในระบบที่อาจเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า เพื่อให้รับมือกับปัญหานั้นๆ ได้อย่าง ทันท่วงที

ขณะที่ พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบ การเทคโนโลยีรายใหม่ กล่าวว่า รัฐบาลเป็นผู้เก็บข้อมูลขนาดใหญ่มาโดยตลอด จะต้องส่งข้อมูลเหล่านั้นกลับมาให้ประชาชนและภาคธุรกิจนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะช่วยให้การคาดการณ์รวมถึงลดต้นทุนการบริหารจัดการในธุรกิจได้ ซึ่งในหลายประเทศมีการนำข้อมูลพื้นฐานของประเทศคืนกลับสู่ประชาชน

"ตัวอย่างเช่นใน เมืองนิวยอร์ก ใช้ดาต้า แชริ่งด้วยการเก็บข้อมูล รายได้ประชากร สภาพอากาศ และอายุของอาคารต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำมาเฝ้าระวังการเกิดอัคคีภัยซึ่งมีความแม่นยำในระดับ 70%" พณชิต กล่าว

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท สยามเมทริกซ์ คอนซัลติ้ง กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทเอกชนต่างเก็บข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในธุรกิจของตัวเอง แต่ยังขาดข้อมูล บางอย่างซึ่งรัฐเป็นผู้จัดเก็บและไม่ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ รวมถึงแหล่งจัดเก็บต่างๆ ยังกระจัดกระจาย ซึ่งหากภาคธุรกิจมีข้อมูลเหล่านั้นจะสามารถนำไปคำนวณต้นทุนด้านต่างๆ ได้ รวมถึงคาดการณ์ความสามารถทางธุรกิจขององค์กรต่างๆ และเพิ่มองค์ความรู้แต่ละด้านเพื่อบริหารจัดการ

กอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับ ยุคดิจิทัลให้มากขึ้น รวมถึงตั้งเป้าเชื่อมโยงข้อมูลของทุกหน่วยงานรัฐเข้ามาไว้เป็นฐานข้อมูลเดียวกันเพื่อความคล่องตัวทุกภาคส่วนที่มาติดต่อกับองค์กรรัฐให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ซึ่งจะมีการทำดาต้า แชริ่ง และดาต้า เซ็นเตอร์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนและผู้ที่ต้องการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์