posttoday

หนุนคนต้นแบบดิจิทัล ขับเคลื่อนองค์กร 4.0

24 ตุลาคม 2561

ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจ จำเป็นต้องปรับวัฒนธรรมองค์กรให้ก้าวสู่ดิจิทัล (Digital Culture)

โดย...ปากกาด้ามเดียว

ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจ จำเป็นต้องปรับวัฒนธรรมองค์กรให้ก้าวสู่ดิจิทัล (Digital Culture) ด้วยการปรับรูปแบบการทำงานให้ก้าวไปในทิศทางที่สอดรับกับนโยบาย บริษัท ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ จึงได้ริเริ่มและเดินหน้าโครงการ “PTT TECH Savvy Agent 2018” การแข่งขันประกวดแนวคิดตามโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร เพื่อสร้างพนักงานต้นแบบที่มีศักยภาพด้านดิจิทัล

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลจะทำหน้าที่เป็น “ทูตแห่งเทคโนโลยีดิจิทัล” ที่ต้องทำหน้าที่เผยแพร่แนวคิดและผลงานทางนวัตกรรมที่ทันสมัยของกลุ่ม ปตท. ต่อสาธารณชน รวมทั้งทำหน้าที่เป็นเมนเทอร์ให้กับพนักงานรุ่นใหม่ที่จะเข้าร่วมการแข่งขันในปีต่อไป

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า ในปี 2561 ปตท. ก้าวเข้าสู่ปีที่ 40 ในฐานะบริษัทพลังงานชั้นนำของประเทศไทย สิ่งสำคัญที่สุดคือการปรับรูปแบบการทำงานให้ทันสมัยด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนาองค์กร (Digital Transformation) ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ การพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้นำด้านดิจิทัลเพื่อสร้างความเข้มแข็งภายในองค์กรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและภาคธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต

สำหรับโครงการดังกล่าวมุ่งส่งเสริมบุคลากรของ ปตท. ที่เป็นคนรุ่นใหม่และมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการปรับเปลี่ยนองค์กรให้พร้อมแข่งขันในเวทีสากลโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน และเป็นองค์กรต้นแบบที่ส่งเสริมการทำงานแบบดิจิทัลในยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างยั่งยืน

หลังจากผ่านการขับเคี่ยวอย่างเข้มข้นจากบุคลากรของ ปตท.ที่เข้าร่วมแข่งขันจำนวน 30 โครงการ จนทำให้ได้ 3 ทูตแห่งเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ ปรัชญา ไหลไพบูลย์ วิน มยุรฤทธิ์ภิบาล และจารุชัย สุจริตธรรม

เริ่มจาก ปรัชญา ไหลไพบูลย์ อายุ 32 ปี พนักงานวิเคราะห์และวางแผน ฝ่ายบริหารบริษัทในเครือน้ำมันปิโตรเคมีและการกลั่น ผู้ชนะการแข่งขันประเภท “Developing Digital Mindset” หรือการพัฒนาแนวคิดในการใช้เครื่องมือดิจิทัลและเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด กับแผน “Amazon เก๋า...เก๋า” ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ด้วยคอนเซ็ปต์การนำผู้สูงอายุในชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนที่มีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามเป็นจุดขาย มาเป็นบาริสต้าในร้านคาเฟ่ อเมซอน เพื่อเพิ่มคุณค่าให้ผู้สูงอายุ รองรับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะมาถึง

ต่อด้วย วิน มยุรฤทธิ์ภิบาล อายุ 25 ปี วิศวกรในโครงการ ExpresSo ทำหน้าที่แสวงหาโอกาสทางธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เป็นผู้ชนะการแข่งขันประเภท “Sharing Digital Mindset” หรือการพัฒนาทักษะการถ่ายทอดเนื้อหาและความรู้ทางด้านดิจิทัลให้กับเพื่อนร่วมงาน โดยนำเสนอเรื่องราวการให้การสนับสนุนผู้พิการทางการได้ยินของคาเฟ่ อเมซอน ซึ่งปัจจุบัน ปตท. ได้มอบโอกาสให้พวกเขาเหล่านั้นเป็นบาริสต้าที่ Café Amazon สาขามหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา มานำเสนอ สร้างความประทับใจและคว้ารางวัลไปในที่สุด

ปิดท้ายด้วย จารุชัย สุจริตธรรม อายุ 28 ปี พนักงานวิเคราะห์และวางแผน ฝ่ายบริหารบริษัทในเครือน้ำมันปิโตรเคมีและการกลั่น ผู้ชนะการแข่งขันประเภท “Applying Digital Mindset” หรือการพัฒนาทักษะการประยุกต์ใช้แนวคิด กลยุทธ์และเครื่องมือดิจิทัลหรือเทคโนโลยีไปใช้ในงานของตนเอง จากแผนธุรกิจ “PTT FIT Station Prime” ในรูปแบบของแชริ่ง อีโคโนมี ที่รวมสถานีบริการเติมไฟฟ้าให้รถไฟฟ้าไว้กับฟิต ออโต้ ในลักษณะของ ฟิต เซอร์วิส เชน ที่เปิดให้บริการทั่วประเทศและเข้าถึงได้ง่ายผ่านแอพพลิเคชั่น FIT FixD

นับว่าเป็นนโยบายเชิงรุกในการสร้างบุคลากรต้นแบบด้านดิจิทัลและตัวแทนคนรุ่นใหม่ของ ปตท. กับไอเดียสุดยอดที่จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อน ปตท.ให้ก้าวสู่ผู้นำองค์กรที่ส่งเสริมการทำงานแบบดิจิทัลอย่างแท้จริง