posttoday

"ประเวช องอาจสิทธิกุล" ผู้ประคองปีกนกแอร์

21 ตุลาคม 2561

"ประเวช องอาจสิทธิกุล" ผู้เข้ามารับภารกิจประคองกิจการ "นกแอร์" สายการบินโลว์คอสต์แห่งแรกของไทยที่กำลังประสบปัญหาทางธุรกิจ

"ประเวช องอาจสิทธิกุล" ผู้เข้ามารับภารกิจประคองกิจการ "นกแอร์" สายการบินโลว์คอสต์แห่งแรกของไทยที่กำลังประสบปัญหาทางธุรกิจ

********************************

โดย...วารุณี อินวันนา

สายการบินนกแอร์ เป็นสายการบินโลว์คอสต์แห่งแรกของไทยที่ก่อตั้งในปี 2547 แต่ก็ประสบกับปัญหาทางธุรกิจมาเป็นระยะ หลังจากเริ่มเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2556 บริษัทก็ประสบปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่อง รวมแล้วในช่วง 4 ปี 6 เดือนที่ผ่านมา นกแอร์มีขาดทุนสะสมรวมแล้ว 6,703 ล้านบาท

การขาดทุนของนกแอร์เป็นเหมือนธุรกิจสายการบินทั่วไปที่เจอปัญหาราคาน้ำมันแพงและปัญหาลูกค้าน้อยลงเป็นช่วงๆ ตามภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขัน อีกทั้งต้นทุนการบริหารงานยังสูง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการบริการจัดการที่ดี ส่งผลให้บริษัทขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ทำให้บริษัทต้องขอกู้เงินจากผู้ถือหุ้นใหญ่ 500 ล้านบาท และจะต้องเพิ่มทุนอีกครั้งเพื่อหาเงินมาเสริมให้กิจการเดินหน้าต่อไป

ขณะที่บริษัทลูก สายการบินนกสกู๊ตติดธงแดงเหมือนสายการบินอื่นๆ ในไทย จากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือไอเคโอ ทำให้หลายประเทศระงับการบินแบบชาร์เตอร์ไฟลต์ ทำให้เกิดการขาดทุนและมีขาดทุนตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาต้องทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 1,000 ล้านบาท เป็น 3,000 ล้านบาท

แค่นั้นยังไม่พอบริษัทประสบปัญหาการลาออกของ ปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท ยิ่งเพิ่มความยากลำบากมากขึ้น ส่งผลให้คณะกรรมการบริษัทแต่งตั้ง ประเวช องอาจสิทธิกุล กรรมการบริษัทขึ้นมาเป็นรักษาการซีอีโอไปก่อน จนกว่าจะหามืออาชีพเข้ามาเสริมทีมบริหารได้

กับภารกิจประคองกิจการสายการบินโลว์คอสต์แห่งนี้จึงตกมาอยู่ในมือของเขา ซึ่งประเวช กล่าวว่า จะทำให้สายการบินนกแอร์ทำธุรกิจต่อไปได้ตามปกติ คือ การเป็นด่านหน้าของสายการบินต้นทุนต่ำ เพื่อปกป้องไม่ให้สายการบินอื่นๆ เข้ามารุกล้ำตลาดของการบินไทย และทำหน้าที่เป็นสายการบินต้นทุนต่ำของประเทศไทยแล้ว ยังต้องทำหน้าที่ในการขับเคลื่อน 3 ภารกิจในการพลิกนกแอร์ให้มีกำไร ตามแผนเทิร์นอะราวด์ ประกอบด้วย หยุดขาดทุน สร้างความมีเสถียรภาพของผลประกอบการ สร้างการเติบโต

เรื่องแรก คือแผนการหยุดขาดทุนคณะกรรมการบริหารตระหนักเรื่องที่มีขาดทุนสะสมจำนวนสูง แต่เมื่อเห็นหนทางที่จะสามารถเสริมธุรกิจซึ่งกันและกันได้ระหว่างกลุ่มไทยกรุ๊ป กับสายการบินนกสกู๊ตดีขึ้น นกแอร์ก็จะมีผลประกอบการดีขึ้นด้วย และนกแอร์ก็ยังเป็นด่านหน้าป้องกันสายการบินโลว์คอสต์อื่นๆ เข้ามาในตลาดของการบินไทย

การที่จะหยุดขาดทุนได้ จะต้องสร้างรายได้ ด้วยการหาเส้นทางบินใหม่ๆ เช่น ที่ทำไปแล้วคือ การบินจากภูเก็ตไปเฉิงตู ไปอินเดีย และร่วมมือกับไทยกรุ๊ป (การบินไทย นกสกู๊ต นกแอร์) บินไปแม่ฮ่องสอน การทดลองบินอินเตอร์ไลน์ หรือการเชื่อมต่อกับสายการบินนกสกู๊ตที่บินจากต่างประเทศไปยังจุดหมายปลายทางในประเทศ โดยเช็กทรูกระเป๋าได้เลย จากหาดใหญ่ไปเชียงใหม่ หากทำได้ดีจะขยายไปยังเส้นทางอื่นเพิ่ม และร่วมมือกับการบินไทย นกสกู๊ต ในการทำตลาดกับฐานลูกค้าของ 2 สายการบิน เพื่อสร้างฐาน
ผู้โดยสารเข้ามา จะช่วยเพิ่มรายได้ในอนาคต

รวมทั้งยังมีการยกเลิกเส้นทางบินที่ขาดทุน ภายใต้เงื่อนไขว่า ขาดทุนลึก ไม่มีกระทบต่อประชาชน ไม่มีผลกระทบต่อมุมมองผู้เดินทาง ไม่มีผลต่อภาพพจน์ ซึ่งได้ยกเลิกเส้นทางบินแม่สอด-ย่างกุ้ง ซึ่งขาดทุนหนักมาก

“ในส่วนของสายการบินนกสกู๊ต พอไอเคโอปลดธงแดง แผนการบินก็กลับมาเริ่มใหม่ได้ ซึ่งตามที่ได้ดูไว้และที่ปรึกษาทางการเงินมองไว้ว่าถ้านกสกู๊ตสามารถเดินหน้าต่อไปได้ จะช่วยเสริมธุรกิจของนกแอร์ให้ดีขึ้นด้วย เพราะเป็นการนำผู้โดยสารจากต่างประเทศเข้ามาส่งต่อให้นกแอร์ จึงต้องทำการเพิ่มขึ้น ซึ่งทางนกแอร์ถือหุ้นอยู่ 49% เป็นเงิน 490 ล้านบาท อีก 51% เป็นของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ส เพื่อนำไปจัดหาเครื่องบินมาเพิ่ม”ประเวช กล่าว

"ประเวช องอาจสิทธิกุล" ผู้ประคองปีกนกแอร์

ด้านแผนลดค่าใช้จ่าย แบ่งออกเป็นแผนเฉพาะหน้า และแผนระยะยาว

สำหรับแผนเฉพาะหน้า ได้ทำแผนการป้องกันความเสี่ยงราคาน้ำมันประมาณ 50% ผ่านการบินไทย เพราะจะได้เงื่อนไขที่ดีขึ้น ซึ่งต้นทุนน้ำมันคิดเป็น 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด และอยู่นอกเหนือการควบคุมไม่ได้ การทำประกันภัยตัวเครื่องบินกับการบินไทย

นอกจากนี้ จะบริหารค่าใช้จ่ายให้ต่ำกว่ารายรับ หรือสร้างความสมดุลระหว่างค่าใช้จ่ายกับรายได้ โดยเฉพาะในช่วงของไฮซีซั่นของปี คือ ไตรมาส 4 และต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปีถัดไป เพราะในช่วงนี้จะมีรายได้ 30-40 ล้านบาท/วัน เฉลี่ยเดือนละ 900-1,400 ล้านบาท/เดือน หากบริหารความเสียหายให้ดี 3 เดือนจะมีรายได้ 4,200 ล้านบาท ซึ่งต้องควบคุมกระแสเงินสด เพื่อจะได้มีเงินไปชำระหนี้เก่า และนำไปเพิ่มทุนในสายการบินนกสกู๊ต เพื่อลดภาระผู้ถือหุ้นให้ได้มากที่สุด

หากบริหารค่าใช้จ่ายได้ดี สถานการณ์ของบริษัทก็จะเริ่มผ่อนคลายในระดับหนึ่ง และจะเพิ่มเติมในส่วนของทีมงานที่จะเข้ามาดูแลเพื่อควบคุมกระบวนการธรรมาภิบาลที่ดีเพื่อให้การบริหารจัดการการเงินและสภาพคล่องให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

ด้านแผนระยะยาว ปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ได้ตั้งคณะทำงาน 3 ชุด เพื่อทำการศึกษา

1.การบริหารจัดการการซ่อมเครื่องบินเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าของต้นทุนสูงสุด โดยจะทำการศึกษาความเป็นไปได้ ผลดีผลเสีย และแผนรองรับ การลดแบบเครื่องบินให้เหลือ 2 แบบ จากปัจจุบันที่มี 3 แบบ 3 รุ่น ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดหาอะไหล่ 3 แบบ ช่าง 3 ชุด

2.ตั้งคณะทำงานศึกษาด้านการบริหารจัดการภาคพื้นดิน เช่น รถรับส่งผู้โดยสาร การรับส่งนักบิน ลูกเรือ รถหัวลากเครื่องบินไปจอด

3.ตั้งคณะทำงานศึกษาการตรวจเช็กเครื่องบินหลังลงจอด โดยมีการศึกษาการทำงานของสายการบินใหญ่ๆ พบว่ามีการจัดตั้งบริษัทย่อยในลักษณะร่วมทุน และให้บริการตรวจเช็กเครื่องบินในเครือ ซึ่งได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ว่าระหว่างนกแอร์ สิงคโปร์แอร์ไลน์ส นกสกู๊ต ถึงกรณีต้องตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาเพื่อให้บริการตรวจเช็กสายการบินสิงคโปร์นกสกู๊ต นกแอร์ ว่าจะสามารถอยู่รอดได้หรือไม่

ทั้ง 3 ด้านข้างต้น คิดเป็นค่าใช้จ่าย 40% ถ้ารวมน้ำมันจะคิดเป็น 70% ที่เหลือเป็นเงินเดือนพนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่คนนกแอร์ต้องช่วยกันลด ซึ่งได้รณรงค์ให้พนักงานเน้นเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร การสร้างความพึงพอใจของลูกค้า และพนักงาน เพื่อให้เกิดการประหยัด

“เราจะใช้เวลาในการศึกษา และสรุปผลการศึกษา พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะ ทางเลือก ข้อดี ข้อเสีย โอกาส และสามารถลดต้นทุนได้มากน้อยแค่ไหนภายใน 4 เดือน” ประเวช กล่าว

ประเวช กล่าวว่า เรื่องที่สอง สร้างความมั่นคงคือหยุดขาดทุนอย่างต่อเนื่อง หมายความว่าต้องหยุดขาดทุนให้ได้อย่างน้อย 3 ไตรมาส หลังจากนั้นรายได้เริ่มมั่นคงไม่ผันผวนอย่างน้อย 3 ไตรมาส และทำให้ผลการดำเนินงานเป็นบวก เพื่อจะนำไปกลบขาดทุนสะสมที่มีอยู่ ซึ่งปี 2561 นี้ตั้งเป้าหยุดขาดทุน แต่ก็ยังหยุดไม่ได้เพราะมีปัจจัยลบมากกว่าปี 2560 ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวจีนล่ม วิกฤตเศรษฐกิจอาร์เจนตินา และตุรกี น้ำมันขึ้น แต่คณะกรรมการบริหารพยายามจะทำให้ดีขึ้น

เรื่องที่สาม สร้างการเติบโต ในฐานะผู้บริหาร เห็นว่าที่ผ่านมานกแอร์ทำได้ดี เพราะจากการที่มีเงินทุนเล็กมากเมื่อเทียบกับโลว์คอสต์แอร์ไลน์อื่นๆ แต่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 22% มีผู้โดยสาร 9 ล้านคน/ปี แสดงว่าใช้งบการเงินได้อย่างมีคุณค่าเต็มความสามารถ ถ้าต้องการเติบโตต่อไปและหลุดพ้นจากวงจรการขาดทุน ต้องมีการเพิ่มทุน

ในฐานะมืออาชีพ การบริหารจัดการ จำเป็นต้องใช้เวลาในการเคลียร์ธุรกรรมที่มีปัญหาให้หมด และสร้างความมั่นคงให้ธุรกิจในอนาคต โดยมองว่านกแอร์ควรจะหาพันธมิตรจากต่างประเทศ เพื่อเอื้อประโยชน์ในการนำผู้โดยสารจากต่างประเทศเข้ามาให้นกแอร์ แต่ต้องเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย เพราะนกแอร์จดทะเบียนในไทย ตามกฎหมายธุรกิจสายการบินในประเทศ กำหนดไว้ห้ามต่างชาติถือหุ้นใหญ่ หากได้พันธมิตรที่จะเอื้อให้นกแอร์เติบโตควบคุมระบบการเงินที่ดี จะทำให้เราสามารถรักษาสายการบินโลว์คอสต์แอร์ไลน์ของไทยไว้ได้” ประเวช ยืนยันอย่างมั่นใจ

"ประเวช องอาจสิทธิกุล" ผู้ประคองปีกนกแอร์

นักการเงินมาบริหารสายการบิน

ประเวช องอาจสิทธิกุล เล่าถึงที่มาของการเข้ามาเป็นกรรมการ บริษัท สายการบินนกแอร์ ว่า กลุ่มจุฬางกูร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ติดต่อให้มาเป็นกรรมการบริษัท เมื่อเดือน ก.ย. 2560 เพราะกลุ่มจุฬางกูรเป็นเจ้าของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไอร่า ที่ผมนั่งเป็นประธานกรรมการบริษัท และได้ตอบตกลงเพราะคิดว่าการได้เข้าสู่สังคมการทำงานจะทำให้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นเพิ่มขึ้น ทำให้ยังมีพลังที่ตื่นตัวตลอดเวลา ได้รับรู้ข้อมูลทางธุรกิจใหม่ๆ ทำให้ชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น คิดว่าประสบการณ์ในสายการเงิน สายตรวจสอบมาตลอด 30 ปีในชีวิตน่าจะช่วยได้

“แต่ไม่คิดว่าจะได้มาเป็น รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่ต้องทำงานเต็มเวลาอีกครั้ง ยอมรับว่าตอนนี้ชีวิตแอ็กทีฟเกินคาด” ประเวช กล่าว

ประเวช กล่าวว่า เดิมคิดว่าการเป็นเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) น่าจะเป็นการทำงานเต็มเวลาชิ้นสุดท้าย หลังจากนั้นจะใช้ชีวิตแบบช้าๆ สงบๆ แต่เมื่อได้รับโอกาสแล้ว จะทำอย่างดีที่สุด โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ขอมาว่า ให้ใช้ความเป็นมืออาชีพอย่างดีที่สุด ซึ่งการได้รับเงินกู้จากผู้ถือหุ้นใหญ่ 500 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าทีมคณะกรรมการบริหารได้รับความเชื่อใจในความเป็นมืออาชีพ และคณะกรรมการบริหารทุกคนต่างทุ่มเทการทำงานเพื่อให้สายการบินนกแอร์ดีขึ้น เพียงแต่ขอเวลาหน่อย เพราะทุกอย่างต้องใช้เวลา

ปัจจุบัน ประเวช อายุ 63 ปี ผ่านการทำงานในฐานะมืออาชีพมาเป็นเวลา 30 ปี มีความเชี่ยวชาญด้านบัญชีเป็นพิเศษ โดยจบบัญชีบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาโทบริหารธุรกิจ 2 ใบ ในสาขาระบบสนับสนุนการตัดสินใจทางธุรกิจ (Decision Support Systems) และสาขาการเงิน จากมหาวิทยาลัยนิวแฮมป์เชียร์ สหรัฐอเมริกา รวมถึงจบหลักสูตรต่างๆ จากภาคลาดทุน ตลาดเงิน และภาครัฐ

ชีวิตของประเวชเริ่มต้นการทำงานในองค์กรข้ามชาติระดับชั้นนำ ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบบัญชีการเงินและการปฏิบัติงาน ธนาคารนิวแฮมป์เชียร์ สหรัฐอเมริกา จากนั้นไปรับตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบ ที่ธนาคารบอสตัน สหรัฐอเมริกา

เข้าสู่ธุรกิจประกันภัย ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบัญชี ที่บริษัท นิวแฮมป์เชียร์ อินชัวรันส์ และย้ายเข้าสู่ธุรกิจการเงินในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจพีมอร์แกนเชส สาขาประเทศไทย กระโดดขึ้นไปนั่งเก้าอี้ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารแห่งอเมริกา สาขาประเทศไทย ไปเป็นผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และได้รับการแต่งตั้งเป็น เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

นอกจากนี้ ยังเคยเป็นคณะกรรมการข้อมูลเครดิตแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการป้องกันและปราปปรามการฟอกเงิน สำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงกรรมการอิสระ ในธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจโรงพยาบาล และกรรมการที่ปรึกษาการลงทุน สาขากาชาดไทย

จากสายการเงิน มาอยู่ธุรกิจสายการบิน คนละเรื่องกันเลย แต่ที่มีเกี่ยวข้องกันคือต้องดูแลเรื่องฐานะการเงินให้ดีขึ้น ลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อน เน้นให้มีธรรมาภิบาล เพื่อให้สายการบินนกแอร์เป็นสายการบินโลว์คอสต์แอร์ไลน์ของไทย ที่ยังครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในประเทศต่อไป”ประเวช กล่าว