posttoday

เจาะ 5 เทรนด์มิลเลนเนียล ใจป้ำ จ่ายหนัก ซื้อความสุข

20 ตุลาคม 2561

ถือเป็นกลุ่มที่เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มคนมิลเลนเนียล (เกิดระหว่างปี 2523-2543) เนื่องจากปัจจุบันคนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง

โดย...จะเรียม สำรวจ

ถือเป็นกลุ่มที่เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับกลุ่มคนมิลเลนเนียล (เกิดระหว่างปี 2523-2543) เนื่องจากปัจจุบันคนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ยอมควักกระเป๋าใช้เงิน เพื่อซื้อความสุขให้กับตัวเอง

ในส่วนของประเทศไทยมีประชากรที่อยู่ในกลุ่มมิลเลนเนียลอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่ทั่วโลกมีสัดส่วนประชากรกลุ่มมิลเลนเนียลประมาณ 1,800 ล้านคน จากจำนวนประชากรที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 7,600 ล้านคน

ความน่าสนใจที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ เฟลชแมนฮิลลาร์ด ประเทศไทย เอเยนซีผู้นำด้านประชาสัมพันธ์และดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งระดับโลก ทำการสำรวจพฤติกรรมของกลุ่มคนมิลเลนเนียลไทยว่าเป็นอย่างไร และจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างคนไทย อายุ 25-37 ปี ทั่วประเทศ จำนวน 500 คน เกี่ยวกับความเชื่อ ทัศนคติ และมุมมองต่อสังคม พบว่า คนกลุ่มนี้มีส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีอัตราการเติบโต ซึ่งอีก 10 ปีข้างหน้าคาดกันว่าคนกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่เข้ามาแทนที่แรงงานในกลุ่มอื่นๆ
         
นอกจากนี้ ข้อมูลที่เก็บได้ยังทำให้เห็น 5 เทรนด์พฤติกรรมสำคัญของชาวมิลเลนเนียล ได้แก่ 1.ชาวมิลเลนเนียล ชาวไทยจะให้ความสำคัญกับ "ความสุข" เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในชีวิตมากกว่า "เงิน" โดย 67% ของกลุ่มคนมิลเลนเนียลให้ความสำคัญกับเรื่องการมีสุขภาพที่ดี และมีความสุข  มีเพียง 55% ของกลุ่มคนมิลเลนเนียลที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการออมเงิน

พฤติกรรมที่ 2 ที่พบ คือ ชาวมิลเลนเนียลใจป้าที่จะทุ่มทุนซื้อสินค้าและชื่นชอบแบรนด์ที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะตัว (Personalized Brands) เพื่อแสดงความเป็นตัวตนที่ชัดเจน โดยชาวมิลเลนเนียล 79% พร้อมที่จะจ่ายมากกว่าให้กับสินค้าและบริการ หากแบรนด์นั้นๆ สามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้

สำหรับกลุ่มสินค้าที่กลุ่มมิลเลนเนียล มองว่าสามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้เป็นอันดับ 1 คือ อาหาร คิดเป็นอัตราส่วน 80% ตามด้วยกลุ่มบริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 80% กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 78% กลุ่มธนาคาร 73% กลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 70% กลุ่มเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม 70% กลุ่มพลังงาน 69% กลุ่มสินค้าส่วนบุคคลและกลุ่มสินค้าความงาม 67% กลุ่มสินค้ายา 67% และกลุ่มประกันสุขภาพ 65%

กลุ่มสินค้าที่กลุ่มมิลเลนเนียลมองว่ายังตอบสนองความต้องการได้ไม่ดีนัก คือ กลุ่มสินค้าเครื่องดื่ม 64% กลุ่มรถยนต์ 64% กลุ่มธุรกิจด้านการลงทุน 62% กลุ่มประกันชีวิต 58% กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม 54% กลุ่มฟิตเนส 46% กลุ่มสายการบิน 44% กลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเบียร์และสปิริตส์ 29%

ในส่วนของพฤติกรรมที่ 3 คือ การแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง ทำให้กระแสของแบรนด์ไม่สามารถเจาะใจกลุ่มมิลเลนเนียลได้ เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีความเป็นปัจเจกชนสูง พวกเขาจะให้ความสำคัญกับสินค้าหรือแบรนด์ที่ตนสนใจหรือชื่นชอบมากกว่าแบรนด์ที่กำลังเป็นกระแส โดย 84% ของกลุ่มคนมิลเลนเนียลใช้แฟชั่นเป็นเครื่องแสดงความเป็นตัวตน และ 86% ชอบติดต่อกับเพื่อนผ่านโลกโซเชียลอยู่ตลอดเวลา แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกดีใจที่ได้กลับมาบ้านอยู่ในห้องของตัวเอง เพื่อใช้เวลาอยู่กับตัวเอง

ด้านพฤติกรรมที่ 4 คือ กลุ่มคนมิลเลนเนียลจะให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์บนโลกออนไลน์มากกว่าภาพลักษณ์ในโลกความเป็นจริง โดย 56% ของชาวมิลเลนเนียลในประเทศไทยคิดว่าวิธีที่พวกเขาแสดงออกในสื่อสังคมออนไลน์นั้นสำคัญกว่าวิธีที่พวกเขาแสดงออกในชีวิตจริง ขณะที่ 65% ใช้เวลาไปกับการดูแลสุขภาพของตนเอง เพื่อให้พวกเขาดูดีขึ้นในโลกโซเชียล และ 56% ของชาวมิลเลนเนียลเชื่อว่าพวกเขาสามารถพบกับความสัมพันธ์และมิตรภาพที่ยืนยาวผ่านทางแอพพลิเคชั่นหาคู่ต่างๆได้

ขณะที่พฤติกรรมที่ 5 คือ กลุ่มมิลเลนเนียลยังคงเชื่อว่าประเทศไทยยังคงสดใส โดยมุ่งเน้นไปที่ความหลากหลายและความเป็นอิสระ โดยผู้ชาย 42% และผู้หญิง 28% ของชาวมิลเลนเนียลเชื่อว่าอนาคตของไทยจะสดใสขึ้น 36% ของชาวมิลเลนเนียลอยากเห็นการเมืองที่คิดถึงประโยชน์ของคนหมู่มากเป็นหลักและ 36% ของผู้หญิงชาวมิลเลนเนียลอยากมีอิสระในการใช้ชีวิต หรือทำงานที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ มากกว่าการแต่งงานและมีลูก

โสพิส เกษมสหสิน รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไป และพาร์ตเนอร์ เฟลชแมนฮิลลาร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า ชาวมิลเลนเนียลถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีความซับซ้อน เนื่องจากพวกเขามีความต้องการและทัศนคติที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองขั้ว ขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่กล้าใช้จ่ายกับสินค้าและการบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการ

การที่ผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลมีมุมมองด้านการใช้ชีวิตและการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากคนยุคก่อน ทำให้แบรนด์ต่างๆ ต้องเร่งทำความเข้าใจ และปรับตัวพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์สินค้าบริการ หรือการนำเสนอโปรแกรมสมาชิกที่ตรงใจผู้บริโภค

นอกจากนี้ สินค้ายังควรสร้างแบรนด์ด้วยวิธีการที่มีความหมายต่อตัวตนและความเชื่อของชาวมิลเลนเนียล เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ซื้อใจพวกเขาได้มากกว่าการสร้างแบรนด์ที่ตอกย้ำสถานะทางสังคม เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความฉลาดเลือก ช่างค้นหา ต้องการความจริงใจ และความโปร่งใสของแบรนด์