posttoday

กรุงศรีผนึกกำลัง MUFG หนุนลูกค้าไทยขยายธุรกิจทั้งในอาเซียนและเวทีโลก

17 ตุลาคม 2561

ในขณะเดียวกัน ลูกค้าญี่ปุ่นสามารถใช้ความเชี่ยวชาญธุรกิจในประเทศและบริการครอบคลุมของกรุงศรีในการเชื่อมต่อธุรกิจ

 

"ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นสถาบันการเงินในเครือมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) ที่ช่วยลูกค้าไทยในการขยายธุรกิจไปในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนและในเวทีโลก ในขณะเดียวกัน ลูกค้าญี่ปุ่นสามารถใช้ความเชี่ยวชาญธุรกิจในประเทศและบริการครอบคลุมของกรุงศรีในการเชื่อมต่อธุรกิจ" นายโนริอากิ โกโตะ ประธานคณะกรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าว      

MUFG เป็นกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ด้วยขนาดทรัพย์สินจำนวนกว่า 2.79 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2560 จัดอันดับประจำปีโดย S&P Global Market Intelligence โดยจะเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินระดับโลกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีเสถียรภาพที่สุด MUFG ดำเนินธุรกิจในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก และมีสำนักงานกว่า 2,300 แห่ง       

ขณะที่กรุงศรีเป็นสถาบันการเงินการเงินชั้นนำของของประเทศไทย มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของไทยด้านสินทรัพย์ 

"สิ่งสำคัญคือการผสานความร่วมมือกันระหว่างสถาบันการเงินระดับโลกกับสถาบันการเงินชั้นนำของไทย" คุณโกโตะกล่าวถึงพลังศักยภาพของกรุงศรี

คุณโกโตะได้อธิบายว่า ในอดีตที่ผ่านมา MUFG มีเพียงสาขาเดียวในกรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสาทร และมีฐานลูกค้าเป็นบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่ ส่วนกรุงศรีเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการทางการเงินอย่างครบวงจรแก่ลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และมีสาขาทั่วประเทศ เมื่อ MUFG มีแผนที่จะขยายธุรกิจมายังประเทศไทย ความเชี่ยวชาญของทั้งสององค์กรจึงเป็นการผนวกรวมอย่างลงตัว           

"ในอดีต สาขา MUFG ในไทยให้บริการลูกค้าองค์กรญี่ปุ่นขนาดใหญ่เป็นส่วนใหญ่ดังนั้นจึงไม่มีผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้ารายย่อย รวมถึงการมีสาขาเพียงสาขาเดียวในประเทศไทยก็ไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าด้วยผลิตภัณฑ์รายย่อยได้ ในทางกลับกันกรุงศรีก็ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าองค์กร์ญี่ปุ่นขนาดใหญ่และตลาดญี่ปุ่นได้อย่างลึกซึ้งในขณะนั้น"          

"ดังนั้น การผสานศักยภาพระหว่างสององค์กร จึงทำให้ MUFG สามารถให้บริการลูกค้าได้ทั่วประเทศ ในขณะที่กรุงศรีก็สามารถนำลูกค้าองค์กรไทยที่สนใจจะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศให้สามารถเข้าถึงสาขาของ MUFG ที่มีอยู่ในต่างประเทศกว่า 2,300 สาขา ในกว่า 50 ประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารไทยหรือธนาคารต่างชาติอื่นๆ ไม่มี"

สำหรับลูกค้าญี่ปุ่น การจับคู่ในครั้งนี้ทำให้พวกเขาสามารถทำงานในพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจากกรุงเทพฯ ได้ง่าย ขณะเดียวกัน กรุงศรีก็สามารถให้บริการผ่านเครือข่ายธนาคารและบริษัทแม่ในประเทศตนเองได้           

"เราเห็นลูกค้าองค์กรไทยจำนวนมากต้องการขยายธุรกิจและสร้างความเติบโตในต่างประเทศ ดังนั้น ผมอยากเชิญชวนให้มาใช้บริการที่กรุงศรี เพราะเรามีเครือข่ายของ MUFG ที่พร้อมจะสนับสนุนการเติบโตในธุรกิจของคุณ"           

สำหรับองค์กรไทยที่ต้องการเปิดโรงงานในต่างประเทศ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประเทศอินเดีย ซึ่งมีสาขาของ MUFG ตั้งอยู่ในทั้งสองประเทศ กรุงศรีสามารถส่งทีมไปพร้อมกับลูกค้าเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี อย่างเช่นในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน           

"เราได้เคยพบเหตุการณ์ ลูกค้าต้องการเงินในสกุลท้องถิ่น อย่าง ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือรูปี เราจึงขอให้สาขาของ MUFG ในประเทศนั้นๆ ช่วยลูกค้า  ซึ่งกรุงศรีสามารถยืนยันรับรองหรือยืนยันลูกค้าเพื่อให้ MUFG ให้เครดิตแก่ลูกค้าในต่างประเทศ" คุณโนริกล่าวถึงตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้น           

ในส่วนของธุรกิจลูกค้ารายย่อย คุณโกโตะสังเกตเห็นว่าปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวชาวไทยไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากข้อจำกัดด้านวีซ่าลดลง บริษัทบัตรเครดิตของ MUFG และกรุงศรี จะทำงานร่วมกันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าไทยที่เที่ยวญี่ปุ่นได้ดียิ่งขึ้น           

"ถ้าคุณถือบัตรเครดิตของกรุงศรีและใช้จ่ายผ่านบัตรที่ประเทศญี่ปุ่น คุณก็ได้รับส่วนลดหรือบริการ นี้คือบางส่วนของสิทธิประโยชน์ที่เรามอบให้กับลูกค้าที่เดินทางไปต่างประเทศ"          

ณ เดือนกรกฎาคม 2560 ประเทศญี่ปุ่นได้ออกมาตรการ "ข้อตกลงการยกเว้นวีซ่า" ให้กับ 68 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ทำให้คนไทยสามารถเข้าประเทศญี่ปุ่นได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่าเป็นระยะเวลา 15 วัน โดยข้อมูลจากองค์การการท่องเที่ยวแห่งชาติญี่ปุ่น ทำให้เห็นว่าในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวชาวไทยกว่า 980,000 คน ไปเที่ยวยังประเทศญี่ปุ่น เมื่อเทียบปี 2557 ซึ่งมีเพียง 660,000 คน

กรุงศรีผนึกกำลัง MUFG หนุนลูกค้าไทยขยายธุรกิจทั้งในอาเซียนและเวทีโลก

ด้านเทคโนโลยี

เทคโนโลยีเป็นอีกหนึ่งประโยชน์ที่ได้รับในการผสานพลังรวมกันของกรุงศรี และ MUFG ซึ่งคุณโกโตะเชื่อมั่นว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพียงชั่วข้ามคืน ซึ่งไม่เหมือนกับในสมัยก่อน

"เพื่อที่จะก้าวทันกับความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ในขณะที่การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินทุนมากมาย แต่การที่ MUFG มีทีมที่ทำในเรื่องนี้อยู่ที่ซิลิคอนแวลลีย์ จึงทำให้สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันได้ นอกจากนี้ เรายังสามารถนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากทางบริษัทแม่มาใช้เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลได้อีกด้วย"

ในแง่ของธุรกิจฟินเทค หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการเงิน คุณโกโตะ เห็นว่าฟินเทคไม่ใช่สิ่งกีดขวางการทำธุรกิจ แต่เป็นความร่วมมือ โดยฟินเทคมุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี ส่วนธนาคารมีความรู้กว้างขวางด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ดังนั้นจึงเกิดเป็นความร่วมมือมากกว่าการกีดขวาง      

"สิ่งที่สำคัญคือ เราจะสามารถทำงานร่วมกันอย่างไร และผนวกเทคโนโลยีและกับความเชี่ยวชาญทางการเงินเข้าด้วยกันและนำมาเสนอให้กับลูกค้า บรรดาสถาบันการเงินต่างก็ทราบว่า เราไม่มีเวลาที่จะมานั่งพูดว่าฟินเทคเป็นเครื่องกีดขวางธุรกิจหรือไม่"

สำหรับกรุงศรี ปัจจุบันใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถโอนเงินระหว่างประเทศได้รวดเร็วขึ้นมาก บริษัทสามารถโอนเงินจากประเทศในอาเซียน อาทิ ประเทศลาว และสิงคโปร์ มายังประเทศไทยได้ภายในไม่กี่วินาที ซึ่งต่างจากเดิมที่ใช้เวลาประมาณ 1-3 วัน

"เครือข่าย SWIFT แบบดั้งเดิม ต้องใช้ระยะเวลาเป็นวันกว่าที่เงินจะถึงผู้รับปลายทาง" โซอีโอกรุงศรีกล่าวถึง เครือข่ายขององค์กร Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication ที่มีอายุกว่า 45 ปีแล้ว

กรุงศรีได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้เป็นธนาคารแห่งแรกที่ใช้การโอนเงินระหว่างประเทศแบบเรียลไทม์โดยใช้เทคโนโลยี Blockchin’s Interledger ซึ่งได้เปิดตัวไปเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2560 ด้วยนวัตกรรมนี้ทำให้การโอนเงินระหว่างประเทศทำได้โดยใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาที อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีปลอดภัยสูงสุดอีกด้วย ในขณะเดียวกัน ช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมการเงินทั้งของลูกค้าธนาคารและธุรกิจต้นน้ำปลายน้ำ ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ

ต่อจากนี้ กรุงศรีจะร่วมมือกับ MUFG เพื่อนำโซลูชั่นและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการให้กับลูกค้าในไทยได้ดียิ่งขึ้น นายโกโตะกล่าว           

"เรากำลังจะส่งประสบการณ์เหนือระดับให้กับลูกค้าผ่านศักยภาพเครือข่ายและความเชี่ยวชาญของ MUFG ซึ่งปัจจุบัน MUFG ได้ถือครองหุ้น 19.7% ใน VietinBank ประเทศเวียดนาม, 76.88% ในกรุงศรี, 20% ใน Security Bank ประเทศฟิลิปปินส์ และเร็วๆ นี้ ได้ถือครองหุ้น 40% ใน Bank Danamon ประเทศอินโดนีเซีย"   

"เรากำลังมองหาโอกาสที่จะทำงานร่วมกับธนาคารพันธมิตรในเครือ MUFG ทั้งหมด ซึ่งต่างมีเครือข่ายในแต่ละประเทศ ให้สามารถเชื่อมโยงเข้าด้วยกันและร่วมสร้างประสบการณ์ที่น่าน่าตื่นเต้นให้กับลูกค้า"       

คุณโกโตะอธิบายว่า ธนาคารในเครือ MUFG แต่ละแห่งต่างใช้ประโยชน์จากศักยภาพความรู้และความเชี่ยวชาญของ MUFG ไปใช้ในประเทศของตน การเชื่อมโยงระหว่างธนาคารเหล่านี้จะทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้น         

"ลูกค้าชาวไทยทั้งรายย่อยและและองค์กรที่กำลังขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ถือเป็นโอกาสดีที่กรุงศรีจะสามารถช่วยให้ลูกค้าผ่านเครือข่ายความร่วมมือของกรุงศรี-MUFG หรือ MUFG กับธนาคารพันธมิตรในแต่ละประเทศ"       

สำหรับความท้าทายในอาเซียน คุณโกโตะกล่าวว่า รัฐบาลแต่ละประเทศในภูมิภาคนี้สามารถสนับสนุนในเรื่องของแพลตฟอร์ม เพื่อให้ทุกประเทศในอาเซียนสามารถให้บริการด้านการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

"ประชากรในอาเซียนเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งแต่ละประเทศกำลังทำ QR-code payment แต่ปัญหาก็คือระบบ QR payment ของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ดังนั้น ถ้ารัฐบาลสามารถทำงานร่วมกันและสร้างมาตรฐานให้กับภูมิภาคแม่โขงและอาเซียน จะเอื้อประโยชน์ให้ธนาคารแต่ละแห่งมีความสะดวกและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น"      

กรุงศรีผนึกกำลัง MUFG หนุนลูกค้าไทยขยายธุรกิจทั้งในอาเซียนและเวทีโลก

โทรศัพท์มือถือกำลังเป็นกุญแจสำคัญสำหรับธุรกิจธนาคารในอนาคต ดังนั้น เราต้องทำงานเพื่อนำบริการและผลิตภัณฑ์มาใช้กับสมาร์ทโฟนมากขึ้น เพื่อให้ทำธุรกรรมและให้บริการได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบายมากขึ้น

"ลูกค้าต้องการทำธุรกรรมการเงินทุกประเภทบนมือถือ ดังนั้น เราจะทำอย่างไรเพื่อตอบสนองต่อความต้องการลูกค้า ซึ่งเราต้องอาศัยทั้งเทคโนโลยีและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้ามาในตลาดให้รวดเร็วกว่าในอดีต"        

สาขาต่างๆ ของกรุงศรียังคงมีความสำคัญถึงแม้ว่าอาจจะลดจำนวนลดลง เรายังคงให้บริการแก่ลูกค้าที่ต้องการมาสาขา          

"เราอาจจะไปถึงยุคที่สาขาของธนาคารต้องทำหน้าที่เพียงให้การบริการเท่านั้นไม่ใช่ธุรกรรม เพราะธุรกรรมต่างๆ สามารถทำได้ผ่านเครื่อง แต่เราก็ยังคงต้องมีสาขาแบบเดิมอยู่ เพียงแต่จำนวนสามารถอาจจะไม่เท่าเดิม จำนวนของผลิตภัณฑ์และบริการในแต่ละสาขาอาจจะไม่เหมือนกันเพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพมากที่สุด"     

"สาขาของธนาคารยังคงเป็นเรื่องของความรู้สึกสะดวกสบายกับลูกค้า ครั้งใดที่ลูกค้าเห็นสาขาธนาคารสีเหลืองก็จะรู้สึกอุ่นใจ ซึ่งทางธนาคารเองก็ตั้งเป้าที่จะโตขึ้นแต่ก็ไม่เร็วเหมือน 3 ปีที่ผ่านมา แต่เราต้องพยายามทำให้รายได้สุทธิของสาขาเพิ่มขึ้นเร็วกว่าตลาด"