posttoday

ครม.ไฟเขียวแก้ "พรบ.ลิขสิทธิ์" ก่อนเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาWIPO

16 ตุลาคม 2561

ครม.เห็นชอบแก้พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 3 ประเด็นให้สอดคล้องเกณฑ์ระหว่างประเทศหวังเข้าร่วมภาคีสนธิสัญญาหนุนคุ้มครองผลงานผู้สร้างสรรค์สนองนโยบาย 4.0

ครม.เห็นชอบแก้พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 3 ประเด็นให้สอดคล้องเกณฑ์ระหว่างประเทศหวังเข้าร่วมภาคีสนธิสัญญาหนุนคุ้มครองผลงานผู้สร้างสรรค์สนองนโยบาย 4.0

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ลิขสิทธิ์ ให้สอดคล้องกับกับเกณฑ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกดับบริวซีที) และให้ความเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก(WIPO Copyright Treaty) ซึ่งปัจจุบันมี 96 ประเทศทั่วโลเป็นสมาชิก เช่นสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน

ทั้งนี้ การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาด้านดิจิทัลคอนเทนต์ แอนิเมชั่น ส่งเสริมผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ในประเทศไทย และสอดคล้องกับนโยบาย 4.0 ของรัฐบาล

นายณัฐพร กล่าวว่า แต่การจะเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ประเทศไทยจะต้องแก้ไขกฎหมายในประเทศคือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ก่อน โดยประเด็นการแก้ไขที่ได้รับการอนุมัติจาก ครม.ครั้งนี้มี 3 ประเด็นได้แก่ แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแจ้งการนำออก(Notice and Take down) โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล จากปัจจุบันเมื่อมีการละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้น เจ้าของผลงานต้องพึ่งกระบวนการทางศาลคือฟ้องร้องต่อศาล เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วจึงจะมีการแจ้งให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต(ไอเอสพี)ถอดข้อมูลที่ละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบ และบางรายเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศเทศยิ่งต้องใช้เวลานาน

แต่ภายใต้การแก้ไขกฎหมายใหม่ ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาลเจ้าของผลงานสามารถติดต่อไอเอสพีโดยตรงว่ามีการละเมิดผลงานอันมีสิทธิ์ เมื่อไอเอสพีได้ติดต่อกับผู้ที่โพสต์ข้อมูลละเมิดลิขสิทธิ์หากไม่มีการโต้แย้งใด ไอเอสพีก็สามารถถอดข้อมูลออกจากระบบได้เลย ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาในการดำเนินการสั้นลง

นายณัฐพร กล่าวว่า ประเด็นที่2 ที่แก้ไขคือ แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยี ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับข้อจำกัดความรับผิดชอบของผู้ให้บริการซึ่งมี 4 ประเภท คือ ผู้ให้บริการในฐานะสื่อกลาง ,ผู้ให้บริการในการเก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นการชั่วคราว ,ผู้ให้บริการในการรับฝากข้อมูลคอมพิวเตอร์ และผู้ให้บริการในการสืบค้นแหล่งที่ตั้งข้อมูลคอมพิวเตอร์ อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ยังมีการสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการ และเจ้าของลิขสิทธิ์ในการส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรมบนสื่ออินเตอร์เน็ต เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางสากล และสนธิสัญญาฉบับดังกล่าวด้วย

ประเด็นที่3 แก้ไขอายุการคุ้มครองงานภาพถ่าย ซึ่งกฎหมายเดิมกำหนดอายุการคุ้มครองงานภาพถ่ายไว้ 50 ปี นับตั้งแต่ได้สร้างสรรค์งานขึ้น แต่ถ้ามีการโฆษณาผลงานชิ้นนั้น ก็ให้มีอายุได้ 50 ปี ตั้งแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ ที่กำหนดให้คุ้มครองตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และให้คุ้มครองต่อไปอีก 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างเสียชีวิต และยังกำหนดให้ลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียงหรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ให้มีอายุ 50 ปี นับตั้งแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวให้มีอายุ 50 ปี ตั้งแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

นายณัฐพร กล่าวว่า สนธิสัญญาฉบับนี้ จัดทำขึ้นโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (ไวโป้) เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2539 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2545 ปัจจุบันสนธิสัญญาฉบับนี้ มีภาคีสมาชิก 96 ประเทศทั่วโลก ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าเป็นภาคี คือ ช่วยยกระดับความคุ้มครองงานลิขสิทธิ์ให้สอดค้องกับมาตรฐานสากล ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ไทยได้รับประโยชน์จากการได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ และยังคับใช้สิทธิ์อย่างเต็มที่ในประเทศที่เป็นภาคี