posttoday

รมว.คมนาคมบินถกญี่ปุ่นหลังส่อเมินลงทุนรถไฟไฮสปีดกทม.-เชียงใหม่

15 ตุลาคม 2561

"อาคม" บินตรงถกรัฐมนตรีญี่ปุ่น หลังส่อเมินลงทุนไฮสปีดกรุงเทพ-เชียงใหม่ แต่ปล่อยกู้ให้ไทย 2 แสนล้านพัฒนาเฟสแรก

"อาคม" บินตรงถกรัฐมนตรีญี่ปุ่น หลังส่อเมินลงทุนไฮสปีดกรุงเทพ-เชียงใหม่ แต่ปล่อยกู้ให้ไทย 2 แสนล้านพัฒนาเฟสแรก

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่าความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-ชียงใหม่ ระยะทาง 673 กม. วงเงิน 4.2 แสนล้านบาทนั้นภายหลังจากประชุมร่วมกับญี่ปุ่นล่าสุด กระทรวงคมนาคมได้เสนอแนวทางให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมทุนเพื่อพัฒนาระบบชินคันเซ็นเป็นสายแรกของประเทศไทย ซึ่งการร่วมลงทุนนั้นมีหลายรูปแบบทั้งด้านงานก่อสร้างโยธา งานระบบและจัดหารถ ตลอดจนงานพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี(TOD) ประกอบกับปัจจุบันญี่ปุ่นได้ปรับแก้กฎหมายเพื่อเปิดช่องให้คนในประเทศออกไปลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามเบื้องต้นญี่ปุ่นยังไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่ยืนยันว่าจะให้ความช่วยเหลือด้านความรู้ในการผลิตบุคลากรรวมถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับโครงการก่อสร้างเฟส 1 ช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก ระยะทาง 418 กม. วงเงิน 2.8 แสนล้านบาท เมื่อสรุปรูปแบบการลงทุนได้แล้วจะเสนอให้สภาพัฒน์พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ยอมรับว่ารัฐบาลมีภาระการลงทุนระบบรางด้วยเม็ดเงินมหาศาลจึงต้องการให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมทุนบางส่วนให้โครงการเดินหน้าได้เช่นเดียวกับรถไฟไทย-จีน ในวันที่ 18-20 ต.ค. นี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมจะบินตรงไปหารือกับรัฐมนตรีญี่ปุ่นเรื่องโครงการความร่วมมือต่างๆรวมถึงแนวทางการร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่ เป็นการพูดคุยระดับนโยบายว่าฝ่ายนั้นมีความคิดเห็นอย่างไรเพราะผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ(EIRR) ประมาณ 14.7%

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่าในการประชุมร่วมที่ผ่านมานั้นทางฝ่ายญี่ปุ่นได้พูดรายงานในที่ประชุมให้กับ รมว.คมนาคมรับทราบว่าโครงการดังกล่าวเป็นแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ดังนั้นรัฐบาลควรลงทุนเองความคุ้มค่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งแต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องทำ เช่นเดียวกับในญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศที่รัฐบาลลงทุนเองทั้งหมด

นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบว่ายังไม่คุ้มค่าเพียงพอต่อการลงทุนเชิงพาณิชย์เมื่อดูจากปริมาณผู้โดยสาร อีกทั้งประเทศญี่ปุ่นยังไม่เคยทำสัญญาร่วมลงทุนรัฐบาลต่อรัฐบาล(G2G)กับประเทศใดเลยในโลกเพื่อพัฒนารถไฟไฮสปีด ดังนั้นจึงคาดว่าโครงการดังกล่าวจะยังไม่สามารถเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ทันรัฐบาลชุดนี้ คงเป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่อย่างไร แต่ทางเลือกในตอนนี้หากรัฐบาลลงทุนเองคงต้องหาวิธีปรับลดค่าใช้จ่ายหากดีมานต์ไม่เยอะ เช่น การปรับลดตู้จาก 6 เหลือ 4 ตู้เพื่อลดต้นทุนด้านซ่อมบำรุง โดยรัฐบาลอาจลงทุนพร้อมเปิดบริการไปก่อน 15 ปี เป็นผู้บุกเบิกดีมานต์เมื่อมีเทรนด์การใช้งานเพิ่มขึ้นแล้วจึงเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารต่อไป

ทั้งนี้ค่าโดยสารนั้นได้กำหนดค่าแรกเข้าไว้ที่ 80 บาทและคิดค่าเดินทางกิโลเมตรละ 1.5 บาท ส่งผลให้ค่าโดยสารช่วงเฟส1 กรุงเทพ-พิษณุโลก ระยะทาง 418 กิโลเมตรนั้นจะมีค่าโดยสารราว 707 บาท ขณะที่ค่าโดยสารตลอดสายช่วงกรุงเทพ-เชียงใหม่..ระยะทาง 673 กม. จะอยู่ที่ราว 1,089 บาท