posttoday

ยื่นหนังสือถึงบิ๊กตู่ค้านสุวรรณภูมิเฟส 2

10 ตุลาคม 2561

"สามารถ"ชี้อาคารผู้โดยสารสุวรรณภูมิส่งกลิ่น ส่อละลายเงิน 4 หมื่นล้านแต่ไม่แก้แออัด แฉ ทอท.ยกเลิกสัญญาบริษัทที่ปรึกษาหลังค้านแผนก่อสร้าง แนะลงทุนหมื่นล้านรับได้ 30 ล้านคนเหมือนกัน

"สามารถ"ชี้อาคารผู้โดยสารสุวรรณภูมิส่งกลิ่น ส่อละลายเงิน 4 หมื่นล้านแต่ไม่แก้แออัด แฉ ทอท.ยกเลิกสัญญาบริษัทที่ปรึกษาหลังค้านแผนก่อสร้าง แนะลงทุนหมื่นล้านรับได้ 30 ล้านคนเหมือนกัน

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. สภาวิศวกร นำโดย นายไกร ตั้งสง่า อุปนายกสภาวิศวกร คนที่ 1 ร่วมกับผู้บริหารสภาวิศวกร ยื่นหนังสือเรื่อง ขอเสนอแนะการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 (Terminal 2) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ลงนามโดย นายกมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร ถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรม โดยมีใจความดังนี้

นายไกร ตั้งสง่า อุปนายกสภาวิศวกรกล่าวว่าตามที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ (ทอท.) อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 (Terminal 2) ณ บริเวณทิศตะวันออกติดกับอาคารผู้โดยสารเดิมของท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ซึ่งแตกต่างใปจากผังแม่บท (Master Plan) ที่ได้ออกแบบไว้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 สภาวิศวกรในฐานะที่เป็นองค์กรควบคุมการประกอบวิชาชีพด้านวิศวกรรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญในการให้คำปรึกษา หรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายและปัญหาด้านวิศวกรรมรวมทั้งด้านเทคโนโลยี ตามมาตรา 7(6) แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 มีข้อเสนอแนะดังนี้

1. Master Plan คือ ผังแม่บท หรือ ยุทธศาสตร์ ในการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้มีประสิทธิภาพสูงสุดสู่ความเป็นเลิศในการให้บริการแก่ผู้โดยสาร ทั้งภายในประเทศแลต่างประเทศ โดยการพัฒนาแบ่งเป็นระยะเวลาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ตามที่กำหนดไว้ในผังแม่บท Master Plan ที่ได้ออกแบบไว้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ทั้งนี้ การดำเนินการใดๆ ที่แตกต่างหรือนอกเหนือจากผังแม่บท Master Plan จึงควรต้องมีการศึกษาถึงผลกระทบอย่างรอบคอบ รวมถึงการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

2. อาคาร Terminal 2 ของ ทอท. ที่นำเสนอนี้ มิได้ปรากฏอยู่ใน Master Plan ตั้งแต่แรกแต่อย่างใด หากจะดำเนินการออกแบบและก่อสร้าง Terminal 2 แล้ว อาจจะสร้างปัญหา เช่น โครงสร้างพื้นฐานของท่าอากาศยาน ระบบคมนาคมทั้งภาคพื้นและอากาศ ระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติโดยรวมได้ เนื่องจากการจัดการภายในท่าอากาศยานสภาวิศวกรยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี

ด้านดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (TER2) ของสนามบินสุวรรณภูมินั้นมีความไม่ชอบมาพากลและท้ายที่สุดการลงทุนถึง 4.2 หมื่นล้านบาทจะไม่สามารถแก้ปัญหาความแออัดอีกทั้งยังทำให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเสียชื่อเสียงในฐานะเกทเวย์ของภูมิภาคอีกด้วย เนื่องจากหลักการขยายสนามบินนั้นต้องขยายพื้นที่ในเขตการบิน(Airside)และการขยายพื้นที่นอกเขตการบิน(Landside)

ทว่าการก่อสร้าง TER2 ในจุดดังกล่าวนั้นไม่มีการเพิ่มพื้นที่ Airside เพราะเป็นการใช้หลุมจอดเดิมที่มีอยู่แล้ว 14 หลุมจอด ทอท.คุยว่าจะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 30 ล้านคนปี แต่ผมเห็นว่าเป็นไปไม่ได้แน่ เพราะต้องอาศัยอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT1) ซึ่งจะรองรับได้ 15 ล้านคนต่อปีอย่างไรก็ตาม การใช้หลุมจอดของอาคารเทียบเครื่องบินรองจะทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกสบาย เพราะจะต้องใช้บริการรถไฟฟ้าไร้คนขับ (APM) จากTER2 ไปสู่อาคารผู้โดยสารปัจจุบัน ซึ่งเป็นAPMลอยฟ้า ต่อจากนั้นจะต้องเปลี่ยนไปใช้เอพีเอ็มใต้ดินจากเทอร์มินัล 1 ไปสู่อาคารเทียบเครื่องบินรองเพื่อรอขึ้นเครื่องต่อไป ดังนั้นตนจึงเชื่อว่าคงไม่ต้องใช้เม็ดเงินหลายหมื่นล้านในการก่อสร้างอาคารใหม่เพื่อรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคน เพียงแค่เลือกใช้แนวทางขยายอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกซึ่งจะสามารถรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปีโดยใช้เม็ดเงินเพียงแค่ 8,000-10,000 ล้านบาทและเป็นไปตามแผนแม่บท อีกทั้ง ผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกมากกว่าเพราะสามารถใช้APMเชื่อมต่อไปยังอาคารSAT1 ได้เลย อีกทั้งยังใช้เวลาก่อสร้างน้อยกว่า

ส่วนอาคารหลังที่ 2 นั้นให้ไปก่อสร้างฝั่งถนนบางนา-ตราด เพื่อแยกประเภทผู้โดยสารออกจากกันและแบ่งเบาปริมาณจราจรในเส้นทางเข้าสนามบินปัจจุบัน อีกทั้งยังสามารถเชื่อม TER1 และ TER2 ด้วย APM ใต้ดินอยู่แล้วอีกด้วย อย่างไรก็ตามตนมองว่าสนามบินสุวรรณภูมิไม่จำเป็นต้องมีอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เพื่อรองรับผู้โดยสาร 150 ล้านคนต่อปีตามแผนแม่บทใหม่ของ ทอท.เนื่องจากรัฐบาลได้เปลี่ยนจากนโยบายสนามบินเดียวเป็นนโยบาย 2 สนามบิน (Dual Airports) และในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนเป็นนโยบาย 3 สนามบิน (Triple Airports) ซึ่งประกอบด้วยสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา โดยจะมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทำให้ผู้โดยสารกระจายไปใช้ทั้งสนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภานอกเหนือจากสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยเหตุนี้ สนามบินสุวรรณภูมิจึงไม่มีความจำเป็นจะต้องมีถึง 3 เทอร์มินัล

ดร.สามารถกล่าวว่าความไม่ชอบมาพากลดังกล่าวเริ่มก่อตัวจากการประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)ทอท.ครั้งที่ 11/2557 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคาคม 2557 ซึ่งมีการพิจารณาตามมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 เรื่องการศึกษาแนวทางในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยที่ประชุมบอร์ดได้มีมติให้ฝ่ายบริหารเร่งศึกษาแนวทางในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ด้วยเหตุนี้ ทอท.จึงเสนอที่จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 บริเวณด้านเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A ซึ่งเป็นด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ให้ที่ประชุมบอร์ด เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557

โดยที่ประชุมมีมติรับทราบการศึกษาการใช้ประโยชน์ของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 พร้อมทั้งกำหนดให้อาคารหลังนี้สามารถรองรับได้ทั้งผู้โดยสารระหว่างประเทศ และผู้โดยสารภายในประทศ นับว่า ทอท.ทำงานได้อย่างรวดเร็วมาก โดยสามารถเลือกตำแหน่งที่ตั้งของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ได้ภายใน 1 เดือน หลังจากนั้นได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ตามตำแหน่งที่ตั้งที่ได้เสนอต่อที่ประชุมบอร์ด โดยไม่ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษา อย่างไรก็ตามบริษัทที่ปรึกษาที่ ทอท.จ้างให้บริหารจัดการโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ ‭‭2554-2560‬‬) คือกลุ่มบริษัท EPM ได้แสดงความคัดค้านและชี้แจงรายละเอียดความผิดพลาดของการกระทำดังกล่าว จนในที่สุดทอท.ได้มีหนังสือเลขที่ ทอท.11776/2557 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 ถึงกลุ่มบริษัท EPM บอกเลิก

ดร.สามารถกล่าวว่ ตามแผนแม่บทระบุชัดว่าการก่อสร้าง TER2 บริเวณดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาทางเทคนิคหลายประการ เช่น 1. ไม่มีพื้นที่ให้เครื่องบินจอดเพียงพอที่จะทำให้อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งผิดแผนแม่บทสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี แต่ปัจจุบันทอท.กลับบอกว่าพื้นที่ดังกล่าวรองรับได้ 30 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะทำให้เป็นที่น่ากังวลมากยิ่งขึ้น 2. การก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมระหว่างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 กับหลังที่ 1 ใกล้ๆ กับอาคารจอดรถ ซึ่งมีพื้นที่แคบจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการก่อสร้าง การหาพื้นที่สำหรับก่อสร้างสถานี และโรงจอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า และมีปัญหากับโครงสร้างถนนยกระดับและสะพานคนข้ามจากอาคารจอดรถ เป็นต้น

ด้านนายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัดมหาชน หรือ ทอท.กล่าวว่าสาเหตุที่ก่อสร้างอาคารหลังที่สองบริเวณจุดดังกล่าวนั้นเพื่อเพิ่มจำนวนประตูเชื่อมเครื่องบิน (Contact Gate) และเพิ่มจุดรับกระเป๋าและจุดตม. จากเดิมที่ผู้โดยสารทุกคนจะต้องไปกระจุกอยู่ที่ด่านตม.และจุดรับกระเป๋าเพียงแห่งเดียวคือภายในอาคารปัจจุบันส่งผลให้เกิดปัญหาความแออัด ส่วนด้านการเลือกขยายอาคารฝั่งทิศตะวันตกแทนที่จะเป็นอาคารฝั่งทิศตะวันออกตามแผนเดิมนั้นเนื่องจากการขยายอาคารฝั่งตะวันออกจะทำลายทัศนียภาพและเอกลักษณ์อันสวยงามของอาคารผู้โดยสารปัจจุบันซึ่งลงทุนไปถึง 1 แสนล้านบาท อีกทั้งการขยายจุดังกล่าวนั้นยังมีระดับเพดานที่จำกัดเพียง 4-5 เมตรเนื่องจากต้องใช้แนวหลังคาเดียวกับอาคาร Concourse A เดิม อีกทั้งยังต้องก่อสร้างทางยกระดับเพื่อประชิดอาคารเพิ่มขึ้นซึ่งปัจจุบันพื้นที่แทบจะไม่เพียงพอก่อสร้างแล้ว นอกจากนี้จะต้องเจอผลกระทบจากรถขนส่งขนาดใหญ่ที่ต้องวิ่งเข้าและออกพื้นที่ก่อสร้างใกล้กับอาคารผู้โดยสารหลักซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนมากกว่า 22,000 เที่ยวตลอดระยะเวลาก่อสร้าง