posttoday

หวั่นเขื่อนอุบลรัตน์น้ำไม่พอใช้! สั่งเร่งทำฝนหลวงเติมน้ำ

09 ตุลาคม 2561

รองนายกฯห่วงเขื่อนอุบลรัตน์น้ำไม่พอใช้ช่วงฤดูแล้งหลังเหลือปริมาณน้ำ36%ของความจุ สั่งทำฝนหลวงเติมน้ำเพิ่ม

รองนายกฯห่วงเขื่อนอุบลรัตน์น้ำไม่พอใช้ช่วงฤดูแล้งหลังเหลือปริมาณน้ำ36%ของความจุ สั่งทำฝนหลวงเติมน้ำเพิ่ม

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ และประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในปี 2561/62 ล่วงหน้า ก่อนที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับผลกระทบ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำประมาณ 869 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 36 % มากกว่าปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่มีปริมาณน้ำในเขื่อนเพียง 28%

"เบื้องต้นการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง โดยความต้องการใช้น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/62 (พ.ย. 61 - เม.ย. 62) รวม 446 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็น น้ำอุปโภคบริโภค 123 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ 37 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่ออุตสาหกรรม 20 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงการระเหยหรือรั่วซึมอีก 266 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะไม่มีน้ำเพียงพอที่จะสนับสนุนภาคการเกษตรได้ ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การ ณ วันที่ 1 พ.ย. 61 ที่เริ่มต้นเข้าสู่ฤดูแล้ง คาดว่าจะมีน้ำใช้การได้ประมาณ 350 ล้าน ลบ.ม. ทำให้มีแนวโน้มว่าในช่วงฤดูแล้งนี้อาจจะต้องนำน้ำจากระดับเก็บกักต่ำสุด (Dead Storage) ประมาณ 96 ล้าน ลบ.ม. ขึ้นมาใช้"พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น ด้วยการจัดทำแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งการแก้ปัญหาระยะสั้นนั้น จะต้องเร่งระดมปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำ วางแผนจัดสรรน้ำให้เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ พร้อมทั้งแจ้งเตือนเกษตรกรให้ทราบถึงสถานการณ์ล่วงหน้า รวมทั้งหามาตรการรองรับ อาทิ การส่งเสริมให้เกษตรกรประกอบอาชีพอื่นๆ ทดแทน นอกจากนี้ ทุกหน่วยงานยังต้องเตรียมมาตรการการช่วยเหลือเพื่อให้เกษตรกรได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะกลาง ในปี 2562 จะต้องมีการปรับระดับเก็บกักน้ำ (Rule Curve) ให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับสภาพอากาศในแต่ละปี ขณะที่แผนระยะยาว จะต้องวางแผนปรับเพิ่มความจุเขื่อนอุบลรัตน์ และเพิ่มการผันน้ำจากแม่น้ำโขงมายังเขื่อนอุบลรัตน์ ผ่านโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ซึ่งอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำอยู่แล้ว โดยทุกหน่วยต้องเตรียมมาตรการรองรับและบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างราบรื่น โดยในช่วงกลางของเดือนตุลาคมนี้กรมชลประทานจะจัดประชุมร่วมกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการงดทำนาปรัง ลดการเลี้ยงปลาในกระชัง เฝ้าระวังคุณภาพน้ำพอง กำจัดผักชวาที่ขวางทางระบายน้ำ

นอกจากนี้เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดความเสียหายในช่วงฤดูแล้งของปี 2561 ต่อ เนื่องถึงปี 2562 ได้มีการประเมินสถานการณ์และวางแผนปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งกรมชลฯ คาดว่าน้ำใช้การได้จะหมดในช่วงเดือน มี.ค. –เมย.และจากนั้นใช้น้ำก้นอ่าง โดยในช่วงกลางของเดือนต.ค. นี้กรมชลประทานจะจัดประชุมร่วมกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการงดทำนาปรัง ลดการเลี้ยงปลาในกระชัง เฝ้าระวังคุณภาพน้ำพอง กำจัดผักชวาที่ขวางทางระบายน้ำ และร่วมกันบริหารจัดการน้ำ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้เครื่องบินของกรมฯ 23 ลำและกองทัพ 4 ลำ ไม่สามารถที่จะปรับแผนปฏิบัติการบินเพื่อสมทบพื้นที่อื่นได้อีก ต้องประจำใน 9 หน่วยทั่วประเทศเพราะทุกพื้นที่สำคัญเท่ากั น เพื่อเร่งปฏิบัติการทำฝน ช่วงชิงสภาพอากาศ เนื่องจากขณะนี้ลมหนาวเริ่มมา โอกาศทำฝนจะน้อยลง ประกอบกับกรมชลฯเพิ่งแจ้งให้เติมเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เมื่อวันที 8 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่พร่องน้ำเพื่อรับพายุมังคุดที่ผ่านมา รวมถึงเป้าหมาย 104 อ่างเก็บน้ำที่มีน้ำน้อยกว่า 60 % ทำให้ขณะนี้ทุกพื้นที่เครื่องบินที่มีจัด นักบินที่มีจำกัด ต้องประจำการทั้งหมด