posttoday

ลุยรีดค่าเสียหายข้าวรัฐเพิ่ม

08 ตุลาคม 2561

อคส.เสนอ นบข. 22 ต.ค.นี้ เสนอวิธีคำนวณความเสียหายข้าวสารสต๊อกรัฐ 17.76 ล้านตันใหม่ หวังรีดค่าเสียหายมากกว่า 9 หมื่นล้าน

อคส.เสนอ นบข. 22 ต.ค.นี้ เสนอวิธีคำนวณความเสียหายข้าวสารสต๊อกรัฐ 17.76 ล้านตันใหม่ หวังรีดค่าเสียหายมากกว่า 9 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) วันที่ 22 ต.ค.นี้ องค์การคลังสินค้า (อคส.) จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาการคำนวณมูลค่าความเสียหายของข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลปริมาณ 17.76 ล้านตัน ภายหลังจากที่กรมการค้าต่างประเทศได้ระบายออกหมดแล้ว และได้เงินส่งคืนกระทรวงการคลังมูลค่า 1.46 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ อคส.มองว่า วิธีการคำนวณความเสียหายของ อคส. ซึ่งมีหลักเกณฑ์การคำนวณตามมติของ นบข.ทำให้รัฐจะได้รับเงินชดเชยจากคู่สัญญา ทั้งเจ้าของคลังสินค้าที่รัฐเช่าฝากเก็บข้าวในสต๊อก และบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) เป็นวงเงินที่น้อยเกินไปเพียง 9 หมื่นล้านบาท ไม่คุ้มค่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น ขณะที่รัฐใช้งบประมาณดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสูงถึง 2-3 แสนล้านบาท

สำหรับหลักการคำนวณค่าความเสียหายเพื่อเรียกส่วนต่างจากคู่สัญญาตามมติ นบข. จะคำนวณจากราคากลางของข้าวสารในสต๊อกหักราคาขาย ซึ่งจะทำให้ได้ค่าส่วนต่างที่คู่สัญญาต้องจ่ายให้ อคส. เช่น ราคากลางของข้าวสารเฉลี่ยตันละ 1 หมื่นบาท แต่ขายได้จริงตันละ 8,000 บาท ส่วนต่างตันละ 2,000 บาท คู่สัญญาต้องจ่ายให้กับ อคส. โดย อคส.จะเสนอให้ที่ประชุม นบข.พิจารณาให้นำค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ เช่น ค่าเช่าคลังเก็บข้าวสาร ค่าดูแลรักษาสภาพข้าว (ค่ารมยา) ฯลฯ มาคำนวณด้วย โดยจะทำให้มูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้นอีก และคู่สัญญาต้องชดใช้ความเสียหายที่เพิ่มขึ้นด้วย แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ นบข.จะเห็นด้วยหรือไม่

ขณะที่ความคืบหน้าการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากคู่สัญญาของ อคส. ภายในสิ้นปี 2561 ทั้งเจ้าของคลังสินค้าและเซอร์เวเยอร์ ที่ทำผิดสัญญาโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตั้งแต่ปี 2554-2557 อคส.ได้ส่งหนังสือทวงถาม (โนติส) ไปยังคู่สัญญาแล้วทั้งหมด 244 สัญญา ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2561 ซึ่งคู่สัญญาส่วนใหญ่โต้แย้งที่จะชดใช้ความเสียหาย เพราะอ้างว่าไม่ได้ทำผิดสัญญา แต่ข้าวสารในสต๊อกเสื่อมเองตามสภาพ โดยขณะนี้ อคส.ได้ยึดหนังสือค้ำประกันสัญญา (แอล/จี) ไว้แล้ว 50 กว่าราย วงเงิน 465 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นแอล/จีของธนาคารกรุงไทย

อย่างไรก็ตาม อคส.ได้รับการชี้แจงจากธนาคารกรุงไทยว่า การยึดแอล/จี โดยที่ศาลยังไม่ตัดสินว่าคู่สัญญารายนั้นๆ มีความผิดจริง ธนาคารจะถือว่าแอล/จีที่ อคส.ยึดไปนั้นเป็นเงินกู้ ไม่ใช่แอล/จี เช่น อคส.ยึดแอล/จี 15 ล้านบาท เงินจำนวน 15 ล้านบาท ธนาคารจะถือว่าเป็นเงินกู้ และจะเรียกให้คู่สัญญารายนั้นมาชำระเงินกู้ โดยคิดดอกเบี้ยตามราคาตลาด ซึ่งอาจทำให้คู่สัญญาขาดสภาพคล่องในทางธุรกิจ ไม่มีเงินซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาได้

ขณะเดียวกัน หาก อคส.ยึดแอล/จีแล้ว และภายหลังศาลตัดสินว่าคู่สัญญารายนั้นไม่มีความผิด อคส.ต้องคืนเงินให้คู่สัญญา พร้อมดอกเบี้ยค่าปรับด้วย ดังนั้น พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานคณะกรรมการ อคส. ได้สั่งการให้ อคส.สรุปข้อดีข้อเสียของการยึดแอล/จี และเสนอนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พิจารณา รวมทั้งหากมีความจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ต้องดำเนินการ ซึ่งมีแนวโน้มว่า อคส.น่าจะเลือกฟ้องร้องทางแพ่งคู่สัญญาแบบเต็มจำนวน โดยที่ไม่ยึดแอล/จีก่อน