posttoday

เมื่อ AI ไล่ล่าคนทำงาน ใน ASEAN

06 ตุลาคม 2561

โดย...ดิลก ถือกล้า [email protected]

โดย...ดิลก ถือกล้า [email protected]

ผมมีโอกาสได้อ่านสรุปผลสำรวจที่ออกมาในเดือน ก.ย. ในเวลาที่ไล่ๆ กันอยู่ 2 เรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จะส่งผลต่อคนทำงานใน ASEAN แม้จะเป็นการสำรวจจากต่างสำนัก แต่ประเด็นที่สำรวจมีความสัมพันธ์กัน

ผลสำรวจแรกเป็นของ World Economic Forum ที่ทำการสำรวจความกังวลของคนทำงานที่อายุต่ำกว่า 35 ปี จำนวนถึง 6.4 หมื่นคนใน ASEAN ว่า มีมุมมองอย่างไรต่อการที่เทคโนโลยีได้เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการทำงาน โดยภาพรวมมากกว่าร้อยละ 52 มองว่า เทคโนโลยีจะช่วยสร้างโอกาสในการทำงานมากขึ้น และร้อยละ 67 เชื่อด้วยว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้พวกเขาได้ รายได้ที่มากขึ้น

และเมื่อมาดูเป็นแต่ละประเทศในเรื่องของระดับความวิตกกังวล ปรากฏว่าคนหนุ่มสาวจากไทยและสิงคโปร์จะสะท้อนความวิตกกังวลคือมองเทคโนโลยีใน แง่ลบ มากกว่าคนหนุ่มสาวจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

เขาชี้ตัวอย่างว่า คนหนุ่มสาวชาวสิงคโปร์เพียงร้อยละ 31 เชื่อว่าเทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มการสร้างงาน เทียบกับคนหนุ่มสาวชาวฟิลิปปินส์ถึงร้อยละ 60 ที่เขาเชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าจะเปรียบเทียบกับผลสำรวจเดียวกันจากทั่วโลก คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ ทั่วโลกจะกังวลกับผลกระทบของเทคโนโลยีว่าจะสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้น และจะทำให้งานหายไป มากกว่าคนจากอาเซียน

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังชี้ด้วยว่าเมื่อดูในระดับการศึกษาของคนหนุ่มสาวในอาเซียนแล้ว ร้อยละ 56 ของคนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี และร้อยละ 47 ของคนที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี ขึ้นไป เชื่อว่าเทคโนโลยีจะช่วยสร้างงานใหม่ให้พวกเขา

อีกผลสำรวจเป็นของ Cisco & Oxford Economics เป็นการสำรวจเชิงวิจัยว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์จะส่งผลอย่างไรต่อคนทำงานในประเทศอาเซียน 6 ประเทศ

ผลวิจัยได้คาดการณ์ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า สิงคโปร์คือประเทศที่คนทำงานจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ร้อยละ 21 ของพนักงานที่ทำงานเต็มเวลาจะถูกทดแทนโดย AI ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน คือ เวียดนาม ร้อยละ 13.8 ไทย ร้อยละ 11.9 ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 11.9 อินโดนีเซีย ร้อยละ 10.1 และมาเลเซีย ร้อยละ 7.4

โดยผลกระทบของ AI กับคนทำงานนี้ จะสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมของประเทศที่เอื้อต่อการสร้างเทคโนโลยี และความพร้อมของประเทศในการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่ยิ่งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็วเท่าใด ก็ส่งผลให้ AI จะแทนคนทำงานได้เร็วและเป็นวงกว้างด้วยเช่นกัน

ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมคนทำงานของสิงคโปร์จึงมีโอกาสถูกแทนที่ได้ด้วย AI มากกว่าประเทศอื่น เมื่อเทียบกับประเทศอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่อัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่ต่ำกว่า

บทสรุปส่งท้าย ที่ผมมองเห็นจากผลสำรวจ 2 สำนักนี้ คือ ไม่ว่าเราจะมองการเปลี่ยนแปลง ทางเทคโนโลยีว่าจะมาแย่งงานหรือมาช่วยงานของเรา หรือมองเห็นการเข้ามาของ AI ทั้งแง่ร้ายหรือแง่ดีทางไหนก็ตาม

สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ ในอีก 10 ปีจากนี้ กำลังแรงงานในอาเซียนจะถูกทดแทนด้วย AI ในระดับที่สูง และที่น่าสนใจไปกว่านั้น ยิ่งเราพยายามพัฒนาเทคโนโลยีมากเท่าไร ก็ดูเหมือนกับเรากำลังเร่งให้เกิดการทดแทนงานของเราเองมากขึ้นเท่านั้น

เราคงต้องถามตัวเองว่า อยากที่จะให้ AI ไล่ล่าเรา หรือเราอยากที่จะไล่ล่า AI หากเราเลือกที่จะเป็นอย่างหลัง เราต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่ตอนนี้ด้วยการ re-skill หรือปรับทักษะของเราเอง โดยไม่ต้องรอเวลาให้ AI มาไล่ล่า เพราะถ้ารอให้เป็นเช่นนั้น คงไม่มีเวลาแล้ว อย่างแน่นอน

"ในอีก 10 ปีข้างหน้า สิงคโปร์คือประเทศที่คนทำงานจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ร้อยละ 21 ของพนักงานที่ทำงานเต็มเวลาจะถูกทดแทนโดย AI ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ ในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน คือ เวียดนาม  ร้อยละ 13.8 ไทย ร้อยละ 11.9  ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 11.9 อินโดนีเซีย ร้อยละ 10.1 และมาเลเซีย ร้อยละ 7.4"