posttoday

กินเจปีนี้ไม่คึกโตต่ำสุด10ปีผู้บริโภคระมัดระวังใช้จ่าย

05 ตุลาคม 2561

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยกินเจปีนี้สะพัด 4.5 หมื่นล้าน โตต่ำสุดในรอบ 10 ปี ผู้บริโภคระมัดระวังใช้จ่าย

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยกินเจปีนี้สะพัด 4.5 หมื่นล้าน โตต่ำสุดในรอบ 10 ปี ผู้บริโภคระมัดระวังใช้จ่าย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคช่วงเทศกาลกินเจระหว่างวันที่ 9-17 ต.ค.นี้ ว่า คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัด 45,937.54 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.9% ซึ่งในด้านมูลค่าถือว่าสูงสุดตั้งแต่ทำการสำรวจมา แต่ด้านอัตราการขยายตัวถือว่าต่ำสุดตั้งแต่ทำการสำรวจมาในปี 2551 และยังต่ำกว่าช่วงปี 2557 ที่การส่งออกไทยติดลบ

“สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สะท้อนว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ดังนั้นบรรยากาศจะคึกคักแค่ไหนอยู่ที่ห้างร้านจะจัดกิจกรรมโปรโมชั่นกระตุ้นตลาด” นายธนวรรธน์ กล่าว

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าจำนวนผู้ที่ไม่กินเจปีนี้สูงถึง 66.2% ส่วนผู้ที่กินเจมีเพียง 33.8% และส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน โดยส่วนใหญ่นิยมซื้ออาหารปรุงสำเร็จมาทาน ซึ่งปัจจัยที่เลือกซื้ออาหาร ส่วนใหญ่ 31% ดูที่ความสะอาด รองลงมา 26.2% ดูเรื่องราคา และ 20% ดูเรื่องรสชาติ

ทั้งนี้ ยังสำรวจถึงพฤติกรรมในการกินเจครั้งนี้ว่า ส่วนใหญ่ 89.4% มีความตั้งใจกินเจตลอดเทศกาล ส่วนอีก 10.6% กินบางมื้อ มีค่าใช้จ่ายโดยรวมในช่วงเทศกาลกินเจตลอดเทศกาลเฉลี่ยคนละ 10,963.46 บาท

ด้าน นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นเม็ดเงินอยู่ที่ประมาณ 1,900 ล้านบาท และในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นเม็ดเงินอยู่ที่ประมาณ 2,300 ล้านบาท

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่จะมีสิทธิของคืนภาษีดังกล่าวจะต้องมีการซื้อสินค้าจากร้านที่มีตราสัญลักษณ์ Vat Refund for Tourists มีมูลค่าสินค้าไม่รวม Vat ไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท โดยซื้อจากร้านค้าที่มีตราสัญลักษณ์ดังกล่าวแห่งละไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท/วัน หรือรวมทั้งหมดไม่เกิน 2 แสนบาท ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้รับเงินคืนภาษีทั้งหมดไม่เกิน 1.2 หมื่นบาท

สำหรับอัตราภาษีที่จะทำการคืนให้กับนักท่องเที่ยวนั้น คิดเป็น 7% ของมูลค่าสินค้าที่ซื้อ ในจำนวนดังกล่าว 4.2-6.4% จะเป็นเม็ดเงินที่คืนให้กับนักท่องเที่ยว  2% เป็นเม็ดเงินที่ส่งให้กรมสรรพากร และ 0.7-1% เป็นเม็ดเงินที่ผู้ให้บริการแวตรีฟันด์