posttoday

ไฟเขียวเพิ่มทุนนกสกู๊ตขยายเส้นทางบินดันรายได้

05 ตุลาคม 2561

ผู้ถือหุ้นนกแอร์ไฟเขียวเพิ่มทุนนกสกู๊ต 490 ล้าน นำเงินขยายเส้นทางบิน ดันฐานะการเงินฟื้น ลั่น 6 เดือนข้างหน้า รายได้วันละ 40 ล้าน

ผู้ถือหุ้นนกแอร์ไฟเขียวเพิ่มทุนนกสกู๊ต 490 ล้าน นำเงินขยายเส้นทางบิน ดันฐานะการเงินฟื้น ลั่น 6 เดือนข้างหน้า รายได้วันละ 40 ล้าน
         
บริษัท สายการบินนกแอร์ (NOK) ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติใส่เงินเพิ่มทุนสายการบินนกสกู๊ต 490 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้อนุมัติให้บริษัทใส่เงินเพิ่มทุนด้วยคะแนนเสียงกว่า 99.96%

ทั้งนี้ นกสกู๊ตจะเพิ่มทุน 1,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นของบริษัทสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ผู้ถือหุ้นใหญ่ 51% การเรียกชำระเงินเพิ่มทุนต้องรอผู้ถือหุ้นใหญ่กำหนดวัน

นายประเวช องอาจสิทธิกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ (NOK) เปิดเผยต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นว่า นกสกู๊ตจะนำเงินที่ได้ไปเช่าเครื่องบินเพิ่มจนถึงปี 2563 จะมีจำนวน 19 ลำ จากปัจจุบัน 10 ลำ ขยายเส้นทางการบินใหม่ได้ 25 เส้นทาง ซึ่งผู้บริหารนกสกู๊ตคาดว่าจะสร้างรายได้ในปี 2561 นี้กว่า 1 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านบาทในปี 2563 ส่วนกำไรสุทธิปีนี้คาดว่าประมาณ 100 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 600 ล้านบาท ในปี 2563 ซึ่งตอนนี้เริ่มทดลองการบริการแบบอินเตอร์ไลน์ (Interline) ในเส้นทางเชียงใหม่ โตเกียว หาดใหญ่ และจะมีการขยายไปยังเส้นทางอื่นเพิ่ม เช่น จีน อินเดีย 2 เส้นทางและญี่ปุ่น

"เมื่อนกสกู๊ตดีขึ้นจะทำให้ฐานะของสายการบินนกแอร์ดีขึ้นตามไปด้วยในฐานะผู้ถือหุ้น และการขยายเส้นทางการบินในต่างประเทศก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การสร้างรายได้เพิ่มจากปัจจุบันที่มี 20% โดยมีพันธมิตรที่เป็นมืออาชีพอย่างสิงคโปร์แอร์ไลน์ เพราะในประเทศแข่งขันแรงมาก" นายประเวช กล่าว

นอกจากนี้ คาดว่าตั้งแต่ไตรมาส 4 ต่อเนื่องไตรมาสแรกปีหน้ารายได้จะเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 30 ล้านบาท ดีที่สุดวันละ 40 ล้านบาท หรือเดือนละ 900-1,200 ล้านบาท เพราะเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น ต่างจากโลว์ซีซั่นที่มีรายได้วันละ 20 ล้านบาท หรือเดือนละ 600 ล้านบาท รายได้ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ขาดทุนลดลง โดยปี 2560 ขาดทุน 1,854 ล้านบาท

"ทั้งปียังขาดทุนเพราะราคาน้ำมันพุ่งจาก 65 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 85 ดอลลาร์ สายการบินโลว์คอสต์ในไทยแข่งขันสูงมาก แต่การทำงานร่วมกับบริษัทในกลุ่มการบินไทย เช่น ซื้อประกันผ่านการบินไทย การประกันความเสี่ยงล่วงหน้าราคาน้ำมัน การทำการตลาดเพื่อได้ผู้โดยสารจากต่างประเทศเข้ามาใช้บริการสายการบินนกแอร์เพื่อท่องเที่ยวในประเทศ ยกเลิกเที่ยวบินขาดทุนน่าจะส่งผลให้ดีขึ้น" นายประเวช กล่าว

ทั้งนี้ ล่าสุดได้ตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมา 3 ชุด เพื่อศึกษาถึงการลดแบบเครื่องบินที่ปัจจุบันใช้อยู่ 3 แบบเพื่อประหยัดด้านการดูแล การจัดการภาคพื้นดิน และการซ่อมบำรุงย่อย เพื่อหาจุดในการลดต้นทุนคาดว่าจะเห็นผลการศึกษาในอีก 3 เดือนข้างหน้า และมีแผนขยายรายได้จากต่างประเทศผ่านสายการบินนกสกู๊ตที่ปัจจุบันมีรายได้จากในประเทศเป็นหลัก