posttoday

เกษตรลุยพัฒนาอาชีพสร้างรายได้ให้เกษตรกรกองทุนฟื้นฟูฯ3.6 หมื่นราย

03 ตุลาคม 2561

รมว.เกษตรฯสั่งเร่งทำแผนพัฒนาอาชีพสมาชิกกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาเกษตรกรที่เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้

รมว.เกษตรฯสั่งเร่งทำแผนพัฒนาอาชีพสมาชิกกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาเกษตรกรที่เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมใช้งบประมาณ 20 ล้านบาทในการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพสมาชิกกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาเกษตรกร ที่เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 36,605 ราย มูลหนี้กว่า 6,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 60 และเป็นหนี้รายละไม่เกิน 2.5 ล้านบาท โดยมติครม.ดังกล่าว ครม.ได้เห็นชอบในแนวทางที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยการเงินและรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้การนำเงินหลวงไปใช้เพื่อให้ซ้ำรอยเหมือนโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมา

ทั้งนี้กระทรวงจะขอรายชื่อเกษตรกรที่เข้าโครงการเพื่อนำไปฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพตามที่ครม.มีมติ ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีกรมส่งเสริมการเกษตรและศพก.ช่วยเหลือเพื่อให้เกษตรกรเลือกเมนูอาชีพที่ตนเองต้องการจะปรับปรุงอาชีพที่เหมาะกับตนเอง

สำหรับมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของธกส.ประกอบด้วยการพักเงินต้น50% พักดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อน สำหรับเงินต้นอีก 50% ให้เกษตรกรทำสัญญาผ่อนชำระตามกรอบเวลาที่ตกลงกัน แต่ไม่เกิน 15 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-3 หรือดอกเบี้ยที่ถูกที่สุด เมื่อเกษตรกรผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาใหม่เรียบร้อยแล้ว ดอกเบี้ยที่พักไว้ ธ.ก.ส. จะพิจารณายกให้เกษตรกร ส่วนเงินต้นที่เหลืออีก50% ให้นำมาปรับโครงสร้างใหม่ภายใต้ดุลพินิจของเจ้าหนี้ที่จะพิจารณาศักยภาพของลูกหนี้แต่ละราย โดยใช้หลักการที่เป็นธรรมและไม่มีผลกระทบต่อภาระของเกษตรกร

รมว.เกษตรฯ ระบุว่าภายใน 1 เดือนนี้ จะเร่งทำแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกร ใช้งบ 20 ล้านบาท ให้กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ ดำเนินการอย่างครบวงจร และจะใช้แนวเกษตรประชารัฐเชื่อมโยงตลาดรับซื้อผลผลิตแน่นอน ทำให้มีรายได้มาชำระหนี้ตามเวลา ส่วนเกษตรกรมีหนี้เกินรายละ 2.5 ล้านบาท เป็นลูกหนี้ธนาคารอื่น ๆ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้รับมาพิจารณา โดยจะหารือร่วมกับเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ และธนาคารเจ้าหนี้ เพื่อหาทางช่วยเหลือในแนวทางเดียวกับลูกหนี้ ธ.ก.ส. ซึ่งสรุปว่ารัฐบาลจะดูแลแก้ไขหนี้เกษตรกรที่เป็นหนี้เสีย กับสหกรณ์ สถาบันการเงิน ธนาคารอื่นด้วย โดยให้รวบรวมหลักการเหตุผลเสนอ ครม. เพื่อพิจารณา และต้องไม่ให้เสียวินัยทางการเงินการคลังของประเทศด้วย