posttoday

เดลล์แนะธุรกิจไทย เร่งปฏิรูปรับดิจิทัล

03 ตุลาคม 2561

ธุรกิจขนาดกลางถึงใหญ่ 71% ของผู้นำธุรกิจไทย เชื่อเป็นงานหินเปลี่ยนโจทย์ตามความต้องการลูกค้าภายใน 5 ปี

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

ดัชนีชี้วัดการปฏิรูปสู่ดิจิทัลของเดลล์เทคโนโลยี (Dell Technologies Digital Transfoemation Index : DT index) ร่วมกับอินเทล ได้ทำการสำรวจ 42 ประเทศ โดยมีองค์กรธุรกิจ 4,600 แห่ง ซึ่งการวิจัยในครั้งนี้องค์กรภายในประเทศ ไทยขนาดกลางและใหญ่ 100 บริษัท เพื่อจับความก้าวหน้าในการปฏิรูปสู่ดิจิทัลของธุรกิจในประเทศไทย

นพดล ปัญญาธิปัตย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เดลล์ อีเอ็มซี ประเทศไทย เปิดเผยว่า ดัชนีชี้วัดการปฏิรูปสู่ดิจิทัลของเดลล์เทคโนโลยี พบว่า องค์กรธุรกิจขนาดกลางถึงใหญ่ 71% ของผู้นำธุรกิจไทย เชื่อว่าองค์กรของตนต้องพยายามเป็นอย่างมาก เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าภายในระยะเวลา 5 ปี

ขณะที่แผนลงทุน 1-3 ปีข้างหน้า ธุรกิจไทยเน้น 7 ด้าน ได้แก่ 1.ตั้งใจลงทุนในระบบรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ 73% ซึ่งไม่แตกต่างกับองค์กรทั่วโลกที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก 2.ลงทุนด้านมัลติ-คลาวด์ 63% 3.ลงทุนด้านการออกแบบดาต้าเซ็นเตอร์ 61% 4.ลงทุนเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) 56% 5.ลงทุนเทคโนโลยีไอโอที 55%

เดลล์แนะธุรกิจไทย เร่งปฏิรูปรับดิจิทัล

นอกจากนี้ พบว่าธุรกิจจำนวนมากวางแผนทดลองใช้เทคโนโลยีที่เพิ่งเริ่มเกิด 6.ลงทุนบล็อกเชน 55% และ 7.การลงทุนระบบการรับรู้ได้เองและเออาร์/วีอาร์ 40%

อย่างไรก็ดี ผู้นำในระดับผู้บริหารองค์กร 45% มีทั้งความกลัวว่าจะเข้ามาดิสรัปชั่นและหวังว่าเทคโนโลยีจะมาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในส่วนผู้บริหาร 33% หวั่นเกรงว่าตนจะถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลัง

“องค์กรไทยที่อยู่ในกลุ่มผู้ที่เริ่มก้าวสู่ดิจิทัล 40% มีแผนงานและนวัตกรรมที่ล้ำหน้าในองค์กรที่ช่วยขับเคลื่อนไปสู่การปฏิรูปองค์กร ส่วนองค์กร 1 ใน 4 บริษัทที่เป็นผู้ตามในเรื่องดิจิทัล และผู้ที่ถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลังดิจิทัล เป็นบริษัทที่ก้าวช้าหรือไม่มีแผนงานดิจิทัล หากเปรียบเทียบผู้นำดิจิทัลในอเมริกามีสัดส่วน 6% จากจำนวนองค์กร 200 บริษัท แต่มีการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไทยไปแล้ว” นพดล กล่าว

ทั้งนี้ การลงทุนเทคโนโลยีธุรกิจไทย 69% เพื่อช่วยเร่งสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ส่วน 45% ของธุรกิจสร้างระบบรักษาความปลอดภัย สำหรับ 65% กำลังพยายามอย่างหนักในการพัฒนาทักษะ รวมถึงความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมในองค์กร และ 52% แบ่งปันความรู้ในทุกฟังก์ชั่นงาน

สำหรับอุปสรรคที่กีดขวางการปฏิรูปสู่ดิจิทัลมี 5 อันดับ ได้แก่ 1.การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ 53% 2.วัฒนธรรมด้านดิจิทัลที่ยังไม่แข็งแรงพอภายในบริษัท 49% 3.ขาดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ด้านดิจิทัลที่สอดคล้อง 48% 4.ขาดเทคโนโลยีในการทำงานให้ทันต่อธุรกิจ 45% และ 5.ขาดทักษะและความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมในองค์กร 43%

องค์กรที่วางเทคโนโลยีไว้เป็นศูนย์กลาง จะได้รับประโยชน์จากโมเดลธุรกิจดิจิทัล รวมถึงความสามารถในการเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว เพื่อจัดการทุกสิ่งได้ในแบบอัตโนมัติและทำให้ลูกค้าพึงพอใจ ซึ่งเป็นสาเหตุที่การปฏิรูปสู่ดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมาเป็นอันดับ 1 นั่นเอง