posttoday

เทหมื่นล้านอุ้มดีเซล

29 กันยายน 2561

กบง.เคาะอุ้มดีเซล 1 บาท/ลิตร กองทุนฯ แบกภาระน้ำมัน ก๊าซ แอลพีจี รวม 1.3 หมื่นล้าน ลดผลกระทบประชาชน

กบง.เคาะอุ้มดีเซล 1 บาท/ลิตร กองทุนฯ แบกภาระน้ำมัน ก๊าซ แอลพีจี รวม 1.3 หมื่นล้าน ลดผลกระทบประชาชน

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุมมีมติตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร โดยเพิ่มวงเงินอุดหนุนอีก 70 สตางค์/ลิตร จากปัจจุบันที่อุดหนุนอยู่ 30 สตางค์/ลิตร รวมเป็น 1 บาท/ลิตร ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบตลาดโลกอยู่ที่ 85 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล คาดว่าจะใช้เงินอุดหนุนตลอดทั้งปีประมาณ 6,000 ล้านบาท

"ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกสูงขึ้นรวดเร็ว โดยปัจจุบันราคาน้ำมันตลาด เบรนต์สูงกว่า 82 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสหรัฐและอิหร่าน ประกอบกับมีข่าวว่าสหรัฐไม่อนุมัติการใช้น้ำมันสำรองเพื่อรักษาระดับราคาไม่ให้ต่ำไปกว่า 80 ดอลลาร์/บาร์เรล รวมทั้งนักวิเคราะห์ได้ประเมินราคาน้ำมันดิบช่วงเข้าฤดูหนาว จึงมองแนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะสูงขึ้นไปถึง 90-100 ดอลลาร์/บาร์เรล จำเป็นต้องอุดหนุนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพแก่ประชาชน" นายศิริ กล่าว

ขณะที่สถานการณ์ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ซึ่งกระทรวงพลังงานก็ยังคงรักษาระดับราคาอยู่ที่ 363 บาทต่อถังขนาด 15 กก. ซึ่งปัจจุบันใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุน โดยกำหนดวงเงินเพดานไว้ไม่เกิน 7,000 ล้านบาท ทำให้ ขณะนี้มีการใช้เงินอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งสองส่วนอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานจะติดตามแนวโน้มราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยมีมาตรการต่างๆ ออกมาดูแลเพื่อให้ประชาชน มั่นใจไม่เป็นภาระค่าครองชีพในช่วงที่สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกผันผวนอย่างเหมาะสม เชื่อว่าหลัง สิ้นปีนี้จะคลี่คลายและปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติ หลังจากผลสหรัฐคว่ำบาตรอิหร่าน มีความชัดเจนมากขึ้น

สำหรับสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 23 ก.ย. 2561 อยู่ที่ 25,462 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันอยู่ที่ 29,285 ล้านบาท บัญชี ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ติดลบ 3,823 ล้านบาท
  
นอกจากนี้ ความคืบหน้าการจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทน (พีดีพี) ฉบับใหม่ ขณะนี้กระทรวงจัดทำร่างแล้วเสร็จและพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว แต่ต้องขึ้นอยู่กับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะเป็นผู้กำหนดเวลาอีกครั้ง เนื่องจาก สนพ.เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการปรับปรุงแก้ไขพีดีพีฉบับใหม่