posttoday

คลอดเกณฑ์ดึงลงทุนอู่ตะเภา

29 กันยายน 2561

'บิ๊กตู่'นั่งหัวโต๊ะบอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวมาตรการ ส่งเสริมลงทุนสนามบินอู่ตะเภา-ดิจิทัลพาร์ค รอบรรจุในทีโออาร์ก่อนเปิดเอกชนร่วมประมูล

'บิ๊กตู่'นั่งหัวโต๊ะบอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวมาตรการ ส่งเสริมลงทุนสนามบินอู่ตะเภา-ดิจิทัลพาร์ค รอบรรจุในทีโออาร์ก่อนเปิดเอกชนร่วมประมูล

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาอนุมัติในหลักการสำหรับการส่งเสริมแก่ผู้ได้รับสัมปทานในโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา และโครงการดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อให้หน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการทั้งสอง ได้แก่ กองทัพเรือ และบริษัท กสท โทรคมนาคม นำไปบรรจุไว้ในประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูล (ทีโออาร์) ในรูปแบบเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (พีพีพี)

ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา สามารถให้การส่งเสริมการลงทุนได้สำหรับการลงทุนอาคารผู้โดยสาร 3 ในประเภทกิจการสนามบินพาณิชย์ จึงได้อนุมัติหลักการให้การส่งเสริม โดยผู้ชนะสัมปทานจะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (ไม่เกินร้อยละ 100 ของเงินลงทุน ซึ่งไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) และหากดำเนินการเป็นไปตามเงื่อนไขภายใต้มาตรการอีอีซีของบีโอไอ จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกร้อยละ 50 เป็นเวลา 3 ปี

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบอนุมัติในหลักการแก่บริษัท กสท โทรคมนาคม ในฐานะเจ้าของสัมปทานดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ หรือเมืองใหม่ตามหลักของเมืองอัจฉริยะ Smart City ซึ่งเป็นโครงการรูปแบบเดียวกับท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยผู้ได้รับสัมปทานจะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษี เงินได้นิติบุคคล 8 ปี (โดยไม่จำกัดวงเงินยกเว้นภาษี เนื่องจากเป็นกิจการ เป้าหมายพิเศษ) และหากดำเนินการตามเงื่อนไขภายใต้มาตรการอีอีซีของบีโอไอ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเป็น 12 ปี

"การอนุมัติหลักการแก่ทั้งสองโครงการสัมปทาน จะช่วยดึงดูดนักลงทุนให้ยื่นข้อเสนอเพื่อพัฒนาโครงการสำคัญของประเทศไทย" น.ส.ดวงใจ กล่าว

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภามีมูลค่าลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท เดิมคาดการณ์จะสามารถประกาศเชิญชวนภาคเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในเดือน ต.ค. 2561 ทั้งนี้รัฐบาลมีเป้าหมายผลักดันให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก โดยจะพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ การก่อสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) ในพื้นที่กว่า 200 ไร่ และการท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในปี 2562

ด้านเงื่อนไขการลงทุนในโครงการนี้เอกชนเป็นผู้ลงทุนงานขยายสนามบิน ก่อสร้างคลังสินค้าและคลังปลอดภาษี รวมถึงพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Commercial Hub) และบริหารจัดเก็บรายได้แบ่งรัฐ ขณะที่รัฐจะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ มอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้าความเร็วสูงและเตรียมพื้นที่ก่อสร้างภายในสนามบิน เป็นต้น อย่างไรก็ตามกองทัพเรือจะทำหน้าที่บริหารสนามบินอู่ตะเภาไปจนกว่าอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 จะเปิดใช้งานในปี 2567

สำหรับโครงการ "ดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์" หรือโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญภายในเขตอีอีซีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล รองรับนโยบายเศรษฐกิจและสังคมตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลที่สำคัญของประเทศไทยและในภูมิภาค เพื่อสามารถตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการยกระดับอุตสาหกรรมไอซีทีของประเทศให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต

ทั้งนี้ การจัดทำทีโออาร์สำหรับผู้ร่วมลงทุนในโครงการที่ผ่านมาได้จัดสัมมนารับฟังความเห็นภาคเอกชนเมื่อเดือน ส.ค.ไปแล้ว โดยคาดว่าการดำเนินงานจะเป็นไปตามกรอบเวลา และจะ คัดเลือกผู้ลงทุนในโครงการได้ภายในเดือน ก.พ. 2562