posttoday

10 หลุมพรางในการโค้ช

29 กันยายน 2561

โดย....ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ

โดย....ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ

ในปัจจุบันการโค้ชเป็นทักษะที่ผู้บริหารและผู้นำของทีมจำเป็นต้องใช้อยู่เสมอ เพื่อพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชา หรือเตรียมความพร้อมให้ทีมงานในการปฏิบัติงานให้บรรลุผลสำเร็จ โดยผู้ใต้บังคับบัญชาได้มีส่วนร่วมและได้ใช้ศักยภาพของตนเองให้มากที่สุด เมื่อลงมือโค้ชแล้ว เราจึงอยากให้ผลลัพธ์ออกมามีประสิทธิผล อย่างไรก็ตาม การโค้ชก็มีหลุมพรางที่หากโค้ชพลาดไป ก็จะทำให้เกิดอุปสรรคในการโค้ช และทำให้ผลลัพธ์ล่าช้าออกไป หลุมพรางเล่านั้นมีอะไรบ้าง

ข้อแรก ถามเองตอบเอง การโค้ชใช้คำถามเพื่อให้เกิดความชัดเจน เป็นความสนใจและใส่ใจในความคิดและความรู้สึกของโค้ชชี่ และสร้างการมีส่วนร่วม รวมถึงเปิดโอกาสให้โค้ชชี่ได้ใช้ความคิด หลายครั้งเมื่อโค้ชถามคำถามแล้วโค้ชชี่เงียบ จึงมักทำให้โค้ชอึดอัด ก็เลยตอบคำถามเอง ถ้าโชคดี ก็อาจจะตอบไปแล้วตรงใจโค้ชชี่ แต่ถ้าไม่ตรง ก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงความเป็นจริง หรือทำให้ทิศทางการคุยผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่โค้ชชี่อยากได้รับการโค้ช

ข้อสอง รวบรัดตัดตอน เมื่อโค้ชชี่ตอบคำถามสั้นๆ หรือยังใช้ความคิดในการเรียบเรียงสิ่งที่จะพูดอยู่ จึงยังไม่ได้กล่าวออกมาทั้งหมด หากโค้ชด่วนสรุปไปก่อนตามที่โค้ชคิดว่าควรจะเป็น หรือจากประสบการณ์ของตนเอง อาจทำให้กระทบความไว้วางใจต่อกัน และไปขัดกระบวนการคิดของโค้ชชี่ได้

ข้อสาม คิดว่าจะถามอะไรต่อไปดี ระหว่างที่รับฟัง เมื่อโค้ชกังวลว่าจะถามอย่างไรให้คืบหน้า หรือถามอย่างไรให้ดูดี ก็จะไปกระทบการฟังที่ครบถ้วนอย่างแท้จริง ระหว่างที่รับฟัง โค้ชจึงไม่ควรคิดคำถามไปด้วย เมื่อโค้ชชี่พูดจบ และโค้ชหยุดใช้ความคิดก่อนที่จะถาม ก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะโค้ชชี่เองก็ต้องการเวลาในการลำดับความคิด หรือเชื่อมโยงสิ่งที่ตนเองได้พูดออกไปเช่นกัน

ข้อสี่ ถามตามสคริปต์ การฝึกปฏิบัติการ โค้ชส่วนใหญ่มักจะมีขั้นตอนหรือตัวอย่างการโค้ชให้ผู้เข้าอบรมได้เห็นภาพ และลดความกังวลในการฝึกครั้งแรกๆ อย่างไรก็ตาม ในการสนทนากับโค้ชชี่ในชีวิตจริง การติดสคริปต์มากไป จะทำให้โค้ชชี่รู้สึกแปลกๆ และเริ่มสงสัยเจตนาของโค้ชได้

ข้อห้า ถามไม่หยุดหย่อน โค้ชไม่จำเป็นต้องยิงคำถามตลอดการสนทนา ในบางครั้ง การถามเพียงแค่ 3-4 คำถามที่มีประโยชน์ก็เพียงพอแล้ว หากโดยธรรมชาติโค้ชเป็นคนที่สนทนาด้วยอัธยาศัยที่ดีและน่ารักอยู่แล้ว ก็สลับกับการสนทนาให้เป็นไปแบบธรรมชาติได้

ข้อหก ให้คำแนะนำมากไป การเสนอความคิดเห็นหรือทางออกไม่ใช่เป็นสิ่งที่โค้ชทำไม่ได้ เมื่อทั้งคู่เห็นตรงกันว่า ข้อมูลและตัวอย่างที่เกี่ยวข้อง หรือทางเลือกต่างๆ จากมุมมองของโค้ช เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ และมาถึงจุดของการสนทนาที่โค้ชชี่อยากได้ความคิดเห็นจากโค้ชบ้าง  อย่างไรก็ตาม โค้ชไม่ควรพูดนานจนเกินไป โดยไม่ได้ถามโค้ชชี่ว่า สิ่งที่ยกตัวอย่างนั้นมีประโยชน์หรือเป็นการช่วยเขาหรือไม่

ข้อเจ็ด ไม่มีแผนการปฏิบัติที่ชัดเจน ถึงแม้การสนทนาออกมาดีมาก โค้ชชี่ให้ความร่วมมือตลอด แต่ไม่มีข้อตกลงที่จะปฏิบัติอย่างชัดเจน โค้ชชี่อาจละเลยที่จะเปลี่ยนแปลงตามที่คุยกัน หรือโค้ชเองมีลูกน้องหลายคน ก็อาจจะลืมว่าตกลงอะไรกันไว้

ข้อแปด ลังเลที่จะ Feedback ตรงๆ ในกรณีที่โค้ชชี่มีความคิดเห็นที่ไม่สร้างสรรค์ต่อเป้าหมายของตนเอง และโค้ชเกรงใจ ไม่พูดในสิ่งที่ควรจะพูด อาจทำให้โค้ชชี่เข้าใจคลาดเคลื่อน ไม่เกิดผลดีต่อการพัฒนา ในกรณีที่เกรงใจจริงๆ อาจขออนุญาตก่อนว่าอยากจะให้ Feedback และถามว่าโค้ชชี่คิดอย่างไร

ข้อเก้า เป้าหมายไกลเกินฝัน การตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน และมีกรอบเวลา เป็นสิ่งที่ดี เพื่อให้ทั้งคู่บริหารเวลาของตนเองได้ด้วย แต่เป้าหมายที่เยอะเกินไป หรือต้องรออีกนานกว่าจะวัดความสำเร็จได้ จะทำให้โค้ชชี่ขาดแรงจูงใจระหว่างทาง เป้าหมายในการโค้ชจึงควรมีทั้งแบบชัยชนะระยะสั้น และแบบในระยะยาว

ข้อสิบ ไม่กำหนดการติดตามผล การเรียนรู้ของโค้ชชี่ไม่ได้อยู่ระหว่างการคุยกับโค้ชเสมอไป หลายครั้งที่การเรียนรู้เกิดขึ้นจากการลงมือปฏิบัติ และการมาทบทวนโดยพูดคุยกัน หากไม่กำหนดการติดตามผล โค้ชชี่อาจมุ่งมั่นในเรื่องนั้นไม่สม่ำเสมอ ในการโค้ชจึงควรกำหนดการติดตามผล โดยให้โค้ชชี่มีส่วนร่วม หรือให้เขากำหนดด้วยตนเอง

การโค้ชไม่ง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินไป และคุ้มค่าในการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ เพราะนอกจากจะใช้กับทีมงานได้แล้ว ยังใช้กับตนเองได้อีกด้วย เพียงแต่การโค้ชเป็นทักษะ และการได้ใช้บ่อยๆ ก็จะทำให้การโค้ชเป็นเรื่องง่าย และทำได้โดยธรรมชาติ