posttoday

ผู้ช่วยเสมือน

27 กันยายน 2561

ตำแหน่งงานหลายล้านตำแหน่งทั่วโลกจะถูกทดแทนด้วยปัญญาประดิษฐ์

ชัชวาล สังคีตตระการ ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

มีการทำนายแนวโน้มทางเทคโนโลยีโดยการ์ทเนอร์ ว่าไม่กี่ปีจากนี้ไป ตำแหน่งงานหลายล้านตำแหน่งทั่วโลกจะถูกทดแทนด้วยปัญญาประดิษฐ์ หนึ่งในระบบเหล่านั้นก็คือ “Virtual Assistant” ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจอย่างมากในปัจจุบัน

ผู้อ่านหลายท่านอาจจะคุ้นเคยกับแชตบอต อันที่จริง Virtual Assistant ก็เป็นแชตบอตอย่างหนึ่ง แต่เมื่อเรากล่าวถึง Virtual Assisant เราให้ความสนใจมากกว่าที่จะเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถสนทนาสื่อสารกับมนุษย์ผ่านทางข้อความ แต่เป็นการสนทนาด้วยเสียงมากกว่า เราจึงอาจเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า “Voice Assistant” ที่เรารู้จักกันดี เช่น Siri, Google Assistant, Amazon Alexa เป็นต้น

Virtual Assistant ที่สนทนาด้วยเสียงได้ ประกอบด้วย เทคโนโลยีหลัก 3 ส่วน ส่วนแรกคือ การแปลงเสียงพูด (Voice) ของเราให้ไปเป็นข้อความตัวอักษร (Text) ส่วนนี้คือ “เทคโนโลยีรู้จำเสียงพูด” หรือ “Speech Recognition” ทำหน้าที่เสมือนเป็นหูของระบบ ความท้าทายในส่วนนี้คือ การเข้าใจต่อเสียงพูดที่ได้ยิน ซึ่งอาจมีตัวแปรมากมาย เช่น ลักษณะการพูด การออกเสียง เสียงรบกวน สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อความถูกต้องแม่นยำ

เมื่อแปลงเสียงเป็นข้อความตัวอักษรได้แล้ว เทคโนโลยีด้านการทำความเข้าใจภาษาจะรับหน้าที่ต่อเสมือนเป็นสมองในการตีความทางภาษาว่าประโยคหรือที่ได้รับเข้ามานั้น มีความหมายอย่างไร ผู้พูดต้องการอะไร มีจุดประสงค์อะไรบ้าง เราเรียกกลุ่มเทคโนโลยีส่วนนี้ว่า “Natural Language Understanding” (NLU) คือ “การทำความเข้าใจภาษาธรรมชาติ” ซึ่งก็คือส่วนที่สำคัญของการทำงานของแชตบอตนั่นเองคือ การทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ของผู้พูด เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการกลับไปได้อย่างเหมาะสม ในส่วนนี้หากเป็น
ผู้ช่วยส่วนตัว หรือ Personal Assistant ก็จะนำข้อมูลส่วนตัวบางอย่างของผู้ใช้มาเป็นปัจจัยสำคัญในการหาคำตอบให้เหมาะสมและตรงใจมากขึ้น

ส่วนที่สาม เมื่อได้คำตอบแล้ว ก็จะสร้างเสียงสังเคราะห์ตอบกลับไปยังผู้ใช้ด้วย “เทคโนโลยีสังเคราะห์เสียงพูด” หรือ “Speech Synthesis” ส่วนนี้ทำหน้าที่เป็นปากความท้าทายของส่วนนี้คือ การสร้างเสียงสังเคราะห์ให้เป็นธรรมชาติเหมือนเสียงคนให้ได้มากที่สุด เมื่อทั้ง 3 เทคโนโลยีนี้รวมร่างกันได้ก็จะกลายเป็น Virtual Assistant ที่สมบูรณ์สามารถช่วยเหลือเราได้โดยการสื่อสารสนทนาด้วยเสียง แต่การที่จะได้มาซึ่งระบบที่มีความสามารถครบถ้วนได้นั้น ต้องมีการพัฒนาและวิจัยอย่างต่อเนื่อง

Virtual Assistant จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของเราในรูปแบบอุปกรณ์บางอย่างภายในบ้าน เมื่อเทคโนโลยีพร้อม ความต้องการตลาดมี การที่จะมีผู้ช่วยเสมือนที่สื่อสารด้วยภาษาไทยได้อยู่ที่บ้านสักตัวในอนาคตอันใกล้อาจเป็นเรื่องจิ๊บๆ ครับ