posttoday

ตรึงต้นทุนค่าไฟ20ปี

27 กันยายน 2561

"ศิริ" เดินหน้าเปิดซองคุณสมบัติ ผู้ยื่นประมูลคาดแล้วเสร็จครบ 4 ซอง เดือน พ.ย.นี้ ระบุ ปตท.สผ.คือรัฐวิสาหกิจ ไม่ฟันธง ลงทุนเอง 100% ได้หรือไม่

"ศิริ" เดินหน้าเปิดซองคุณสมบัติ ผู้ยื่นประมูลคาดแล้วเสร็จครบ 4 ซอง เดือน พ.ย.นี้ ระบุ ปตท.สผ.คือรัฐวิสาหกิจ ไม่ฟันธง ลงทุนเอง 100% ได้หรือไม่

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การเปิดให้ผู้สนใจยื่นเป็น ผู้ดำเนินการหลัก (โอเปอเรเตอร์) สำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกชในรูปแบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) หากพิจารณาในเรื่องผลประโยชน์ที่รัฐจะได้คิดเป็นค่าภาคหลวงในช่วง 10 ปีแรก ประมาณ 8 แสนล้านบาท ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับ ราคาก๊าซ

นอกจากนี้ ผู้ชนะการประมูลต้องขาย ก๊าซในราคาเดียวตลอดอายุสัญญา เพื่อรักษาระดับค่าไฟคงที่ ในระยะ 20 ปี ขณะเดียวกันต้องรักษาระดับการผลิตก๊าซในแหล่งเอราวัณไม่ต่ำกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟุต) ต่อวัน และในแหล่งบงกชไม่ต่ำกว่า 700 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน ตลอดระยะเวลา 10 ปีแรก ทั้งนี้ยังประเมินว่าการดำเนินการในรูปแบบพีเอสซีนี้ รัฐจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าไทยแลนด์ 1 แต่จะสูงกว่าไทยแลนด์ 3 หรือไม่ จะมีการเปรียบเทียบอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) ได้เปิดให้ผู้สนใจเข้ายื่นเอกสารการประมูลเมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดคณะอนุกรรมการพิจารณาการให้สิทธิสำรวจและผลิตฯ ได้เปิดซองข้อเสนอที่ 1-3 ได้แก่ 1.ซองเอกสารด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการปิโตรเลียมตามกฎหมาย 2.เอกสารข้อเสนอด้านหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน และ 3.เอกสารข้อเสนอด้านเทคนิค ซึ่งประกอบด้วย แผนงานช่วงเตรียมการ แผนงานการสำรวจ และแผนการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม โดยจะใช้เวลาพิจารณาการผ่านหลักเกณฑ์ประมาณ 1 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายเดือน ต.ค.นี้

ทั้งนี้ ในเดือน พ.ย.นี้จะพิจารณาคุณสมบัติ ซองที่ 4 คือ ซองเอกสารข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ และสัดส่วนการจ้างพนักงานไทย หลังจากนั้นจะเสนอคณะกรรมการปิโตรเลียมก่อน นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ชนะ ในเดือน ธ.ค.นี้ และลงนามในสัญญาได้ในเดือน ก.พ. 2562

สำหรับซองที่ 2 กำหนดให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ร่วมทุนนั้น รัฐจะถือหุ้น 25% ของการลงทุนทั้งหมด แต่ต้องเป็นหน่วยงานที่มีสภาพคล่องสูง ไม่อยู่ในสภาวะขาดทุน ส่วนจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานหรือไม่ อยู่ที่รัฐจะเป็นผู้พิจารณา

"ประเด็นเรื่องรัฐวิสาหกิจถือหุ้น ก่อนหน้านี้ที่บริษัท ปตท.สผ. ในฐานะผู้ยื่นประมูลได้บอกว่าตัวเองเป็นหน่วยงานรัฐและสามารถเสนอตัวเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดนั้น ตามหลักการถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจจริง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาอีกครั้งว่าสามารถทำได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามยืนยันว่าการเปิดประมูลครั้งนี้ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เนื่องจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต มีความพร้อมทุกด้านเช่นกัน ทุกรายที่เข้ามาแข่งขันภายใต้เงื่อนไขนี้ต่างรับทราบข้อมูลมาแล้วทั้งสิ้น" นายศิริ กล่าว

สำหรับข้อเสนอด้านเทคนิคจะต้องมีความรู้ความสามารถในการรื้อถอนและก่อสร้างแท่นขุดเจาะ โดยปัจจุบันมีแท่นขุดเจาะรวมทั้งสิ้น 278 แท่น ขณะนี้รื้อถอนอยู่ประมาณ 4-5 แท่น คาดว่าน่าจะใช้งานแท่นเก่าได้ 220 แท่นจากทั้งหมด และต้องมีการก่อสร้างใหม่ประมาณ 150 แท่น ในระยะ 10 ปีแรก ประเมินการลงทุนไว้ที่ 1.1 ล้านล้านบาท ดังนั้นรัฐที่เข้าถือหุ้นต้องมีเงินร่วมลงทุนประมาณ 2.5 แสนล้านบาท