posttoday

"แอร์พอร์ตลิงก์ไม่ได้แย่อย่างที่คิด" รมช.คมนาคมมั่นใจแก้ปัญหาแออัดชม.เร่งด่วนได้

26 กันยายน 2561

รมช.คมนาคม โต้ "ศรีสุวรรณ" มั่นใจแก้ปัญหา "แอร์พอร์ตลิงก์" แออัดในชั่วโมงเร่งด่วนได้แน่ แต่ไม่ชัวร์ซื้อรถใหม่หวั่นไม่คุ้มค่า

รมช.คมนาคม โต้ "ศรีสุวรรณ" มั่นใจแก้ปัญหา "แอร์พอร์ตลิงก์" แออัดในชั่วโมงเร่งด่วนได้แน่ แต่ไม่ชัวร์ซื้อรถใหม่หวั่นไม่คุ้มค่า

จากกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อเรียกร้องให้จัดซื้อรถเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาผู้โดยสารแออัดและร้องเรียนเรื่องความเสี่ยงต่อผู้โดยสาร

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยว่าปัญหาของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ไม่ได้แย่อย่างที่ทุกคนคิดโดยเฉพาะปัญหาเรื่องความแออัดนั้นจะมีเพียงช่วงชั่วโมงเร่งด่วนคือ 6.00-8.00น.และช่วง 18.00-19.00 น. ซึ่งสาเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากอยู่ระหว่างการปรับปรุงขบวนรถ(overhual) ขณะนี้เสร็จและเปิดใช้แล้วจำนวน 7 ขบวน ขณะที่สองขบวนสุดท้ายจะเปิดใช้ในเดือนธ.ค.นี้ จะส่งผลให้ความถี่ของแอร์พอร์ตลิงก์ลดลงเหลือ 8 นาทีต่อขบวน ประกอบกับในอีก 2-3 ปีข้างหน้ารถไฟฟ้าสายสีต่างๆจะทยอยเปิดให้บริการ อาทิ รถไฟฟ้าสายสีเหลืองและรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก เป็นต้น ซึ่งตนมั่นใจว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระปริมารผู้โดยสารของแอร์พอร์ตลิงก์ได้อย่างแน่นอน

ส่วนการลงทุนจัดซื้อรถใหม่ 7 ขบวน วงเงนิน 4 พันล้านบาทนั้นต้องเป็นหน้าที่การตัดสินใจของเอกชนแต่เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมมองว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นการซื้อรถใหม่อาจไม่ใช่คำตอบของปัญหานี้เนื่องจากหากลงทุนซื้อรถใหม่นั้นบริษัทต้องรับภาระค่าบำรุงและค่าเสื่อมที่เพิ่มมากขึ้น สวนทางกับอัตราการใช้งานรถไฟฟ้าซึ่งมีผู้โดยสารหนาแน่นเฉาพะชั่วโมงเร่งด่วนเพียง 4 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนอีก 15 ชั่วโมงที่เหลือนั้นก็ไม่สามารถใช้รถได้เต็มฟลีทที่มีเพราะปริมาณผู้โดยสารใช้บริการระหว่างวันจำนวนไม่เยอะ

นายไพรินทร์กล่าวว่า เรี่องของความเสี่ยงต่อผู้โดยสารจากกรณีที่เกิดฟ้าผ่านั้นขอชี้แจงว่าระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์นั้นมีการส่งสัญญาณไฟฟ้าด้วยเสาไฟในระบบเปิดบนทางวิ่ง แตกต่างจากรถไฟฟ้าสายอื่นๆที่ส่งสัญญาณไฟฟ้าแบบระบบปิดใต้ดิน ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่าในบางกรณี ดังนั้นแอร์พอร์ตลิงก์จึงต้องกลับมาศึกษาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตควบคู่ไปกับรับฟังความคิดเห็นรอบด้านเพื่อนำไปประกอบการจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์เพิ่มตลอดจนใช้ข้อมูลดังกล่าวไปประกอบกับการติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพราะต้องใช้เสาส่งไฟแบบระบบเปิดเหมือนกัน

ส่วนสาเหตุที่เปลี่ยนรูปแบบรถไฟฟ้าจาก Express Line มาเป็น City Line นั้นเกิดจากปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่รัฐบาลตั้งใจว่าจะให้รถไฟฟ้าสายนี้เป็นระบบขนส่งระหว่างเมืองและผู้เดินทางไปยังสนามบิน แต่เมื่อดีมานต์เปลี่ยนจึงต้องปรับรูปแบบรถให้เหมาะสมต่อการรองรับผู้โดยสารจำนวนมากขึ้น ขณะที่ปัญหาเรื่องประตูขัดข้องนั้นเกิดจากผู้โดยสารพิงประตูระหว่างรถไฟฟ้าออกจากชานชาลาส่งผลให้ระบบประตูดังกล่าวขัดข้องดังนั้นจึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจให้ผู้ใช้บริการรับรู้ถึงสิ่งที่ไม่ควรทำระหว่างโดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ต่อไป