posttoday

กทพ.สบช่องดึงเงินทีเอฟเอฟ เล็งขยายทางด่วนแก้รถติด

26 กันยายน 2561

"สุรงค์" แจงแผนทางด่วนทีเอฟเอฟ เล็งเงินส่วนที่เหลือ 1.5 หมื่นล้าน ขยายทางด่วนแก้รถติด

"สุรงค์" แจงแผนทางด่วนทีเอฟเอฟ เล็งเงินส่วนที่เหลือ 1.5 หมื่นล้าน ขยายทางด่วนแก้รถติด

นายสุรงค์  บูลกุล  ประธานคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ.มีแผนนำเงินที่เหลือจากการระดมทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (ทีเอฟเอฟ) จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท ไปลงทุนขยายทางด่วนเพื่อแก้ปัญหาจราจรและ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย

ทั้งนี้ จะเป็นการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)  อาทิ โครงการส่วนต่อขยายเชื่อมท่าเรือกรุงเทพ วงเงิน 5,000 ล้านบาท  โครงการต่อขยายทางด่วนบูรพาวิถี วงเงิน 5,000 ล้านบาท จากเดิมสิ้นสุดที่บริเวณทางเข้านิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี เพื่อเลี่ยงเส้นทางและลดความแออัดบริเวณหน้านิคมอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ยังมีแผนเชื่อมต่อ ทางด่วนในกรุงเทพเพื่อแก้ปัญหาจราจร เช่น เชื่อมต่อกรุงเทพฯ ตะวันตก-กรุงเทพฯตะวันออกด้วยทางด่วนสายเหนือขั้นที่สอง ตอน N2 หรือการเชื่อมทางด่วนสองสายเข้าด้วยกัน เช่น โครงการทางเชื่อมโครงข่ายทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานคร (มิสซิ่งลิงค์)

อย่างไรก็ดี กองทุนทีเอฟเอฟมีศักยภาพทั้งด้านการลงทุนและด้านผลประโยชน์ของประชาชน เมื่อการสร้างทางด่วนแก้ปัญหารถติดให้คนกรุงเทพฯอย่างยั่งยืน  ขณะที่การลงทุนในทีเอฟเอฟมีความเสี่ยงต่ำ

นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ รอง ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวในงานสัมมนา ชี้แจงกองทุนทีเอฟเอฟร่วมกับสหภาพการทางพิเศษว่า ขณะนี้ กทพ.มีแผนงานหลักที่ต้องขับเคลื่อนตามนโยบาย รัฐบาล เริ่มจากการระดมทุนทีเอฟเอฟ  เพื่อก่อสร้างทางด่วน 2 สาย ได้แก่ ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท และโครงการทางด่วนสายเหนือขั้นที่สอง (N2) วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีแผนลงทุนต่อ ขยายโครงข่ายทางด่วนออกไปเพื่อแก้ปัญหารถติดโดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วนและช่วงวันหยุดเทศกาล เริ่มจากโครงการต่อขยายทางด่วนสายใต้ต่อขยายทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง ต่อไปยังสมุทรปราการระยะทาง 10 กิโลเมตร (กม.) อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีแผนลงทุนขยายทางด่วนในพื้นที่อีอีซีเพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดหน้านิคมอุตสาหกรรมอีกด้วย

แหล่งข่าวจาก กทพ. ระบุว่า กทพ.เตรียมเสนอคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) เพื่อขอปรับแผนโครงการมิสซิ่งลิงค์ ระยะทาง 2.6 กม. วงเงิน 6.2 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทเอกชนผู้ดูแล ทางด่วนทั้งสองสายปฏิเสธที่จะลงทุนโครงการจึงต้องขอเปลี่ยนมือให้รัฐบาลลงทุนแทน โดยจะเสนอให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร .) พิจารณาแนวทางดำเนินการเพราะปัจจุบัน กทพ.อยู่ระหว่างลงนามสัญญางานฐานรากไปแล้วมูลค่า 350 ล้านบาท ระยะทาง 400 เมตร โดยบริษัทผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท เสริมสงวนก่อสร้าง