posttoday

รุมชิงจัดหาก๊าซกฟผ. แห่ยื่น43ราย ตรวจเข้มคุณสมบัติ

25 กันยายน 2561

กฟผ.เผยมีผู้ผลิตและค้าก๊าซแอลเอ็นจีทั้งในประเทศและ ต่างชาติสนใจยื่นประมูลจัดหาก๊าซ 1.5 ล้านตัน/ปี คาดรู้ผลผู้ชนะต้นปี'62

กฟผ.เผยมีผู้ผลิตและค้าก๊าซแอลเอ็นจีทั้งในประเทศและ ต่างชาติสนใจยื่นประมูลจัดหาก๊าซ 1.5 ล้านตัน/ปี คาดรู้ผลผู้ชนะต้นปี'62

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการนโยบายและแผนพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการออกประกาศเชิญชวนให้ผู้ผลิตหรือผู้ค้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ยื่นเอกสารแสดงความจำนงเป็นผู้จัดหาแอลเอ็นจีในปริมาณ 1.5 ล้านตัน/ปีให้กับ กฟผ.นั้น ซึ่งหลังปิดการยื่นเอกสารเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น มีผู้ให้ความสนใจยื่นแสดงความสนใจทั้งสิ้น 43 ราย ซึ่งมาจากทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ คาดว่าจะรู้ผลผู้ที่ผ่านคุณสมบัติในช่วงเดือน ต.ค. 2561 หลังจากนั้นจะเริ่มขั้นตอนการประกวดราคา และเปิดยื่นเอกสารประกวดราคา โดยจะทราบผลผู้ชนะประมูล และลงนามสัญญาจัดหาแอลเอ็นจีได้ในช่วงต้นปี 2562 ซึ่งจะต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

สำหรับการพิจารณาคัดเลือกผู้จัดหาก๊าซดังกล่าว ทาง กฟผ.และที่ปรึกษาจากยุโรป คือ แฟค โกลบอล เอเนอร์ยี (เอฟจีอี) จะร่วมกันตรวจสอบผู้ที่ผ่านคุณสมบัติ ซึ่งเบื้องต้นจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจน้ำมันและก๊าซ มีความสามารถในการจัดส่งก๊าซ หลังจากนั้นจะแจ้งต่อผู้เข้าร่วมแสดงความสนใจที่ผ่านการตรวจคุณสมบัติก่อนจะเริ่มกระบวนการประกวดราคาต่อไป

ด้านหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้จัดหาแอลเอ็นจีให้กับ กฟผ.นั้น จะพิจารณาผู้เสนอนำเข้าที่ราคาต่ำสุด เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยกำหนดขั้นต่ำในการจัดส่งก๊าซที่ 8 แสนตัน/ปี และกำหนดเพดานสูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งเป็นไปตามมติ ที่ประชุม กพช. ที่อนุญาตให้ กฟผ.จัดหาแอลเอ็นจีในปริมาณ 1.5 ล้านตัน/ปี ส่วนระยะเวลาการนำเข้านั้นขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ คาดว่าต้องมีการเจรจาและสรุปกันอีกครั้ง ก่อนจะออกเอกสารเชิญชวนประมูล (ทีโออาร์) ด้านราคาต่อไป

นายพัฒนา กล่าวว่า แอลเอ็นจีที่จัดหามาได้นั้นจะใช้เป็นเชื้อเพลิง สำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดของ กฟผ. เพื่อให้คุ้มค่ากับต้นทุนการนำเข้า ซึ่งเบื้องต้น กฟผ.จะจัดหาใช้สำหรับโรงไฟฟ้าวังน้อย ยูนิต 4 ขนาด 600-700 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นยูนิตใหม่ ที่มีความต้องการใช้แอลเอ็นจีเป็นเชื้อเพลิงประมาณ 7-8 แสนตัน/ปี หากสามารถจัดหาแอลเอ็นจีได้มากกว่าปริมาณดังกล่าวก็จะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าบางปะกงยูนิตใหม่ด้วย

อย่างไรก็ตาม การเป็นผู้นำเข้าแอลเอ็นจีครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีนโยบายเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติของรัฐเพื่อสร้างความมั่นคงการจัดหาพลังงานให้กับประเทศ โดย กฟผ.ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการได้