posttoday

ฝนหลวงเร่งเติมน้ำเขื่อน หลังฤดูฝนใกล้หมดแต่ปริมาณยังต่ำกว่า60%

23 กันยายน 2561

รมว.เกษตรฯสั่งระดมทำฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนที่มีความจุต่ำกว่า 60% หลังฤดูฝนใกล้หมด

รมว.เกษตรฯสั่งระดมทำฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนที่มีความจุต่ำกว่า 60% หลังฤดูฝนใกล้หมด

นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งให้หน่วยปฎิบัติการทำฝนหลวง ระดมทำฝนเติมน้ำเขื่อนที่มีน้ำไม่ถึง60% ขณะที่ฤดูฝนใกล้จะหมด โดยให้จัดทำแผนทำฝนหลวงให้กับพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพราะขณะนี้มีหลายจังหวัดเกิดภาวะแล้งมาเร็วและจากปัญหาฝนทิ้งช่วงด้วย

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ให้หน่วยฝนหลวงทุกภูมิภาคทำฝนจนถึงเดือนต.ค.เพราะหลายพื้นที่ยังประสบภาวะฝนทิ้งช่วงมาต่อเนื่องโดยการทำแผนที่ทำฝนหลวงว่าพื้นที่ไหนต้องการฝน

ที่ผ่านมาพบว่าเกิดฝนทิ้งช่วงหลายพื้นที่มาตั้งแต่เดือนมิ.ย. ต่อเนื่องมากโดยเฉพาะภาคกลางบนของประเทศ กรมได้ปรับแผนการปฏิบัติการให้สอดคล้องกับสภาพอากาศตลอด ซึ้งแต่ละพื้นที่ต้องระวังเรื่องผลผลิตทางการเกษตรเกษตรที่อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวด้วยเพื่อป้องกันความเสียหาย โดยเขื่อนสำคัญคือลำตะคองและแม่กวง -แม่งัด ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า30%

ล่าสุด ปรับแผนไปทุกพื้นที่โดยภาคเหนือมี 2 หน่วยฝนหลวง ภาคกลางมี 2 หน่วย ตะวันออกเฉียงเหนือ 4 หน่วย ตะวันออก 1 หน่วยมีเครื่องบินทำฝนหลวง โดยสนธิกำลังกับเครื่องบินกองทัพอากาศรวม4เครื่อง และเครื่องบินกรมฝนหลวงรวม 21เครื่อง

นายสำเริง แสงภู่วงศ์ ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต และรองเลขาสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สนทช.)กล่าวว่าจากแนวโน้มฝนลดลง มีข้อห่วงใยของพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯที่มอบหมายทุกหน่วยงาน ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องในการแผนบริหารจัดการและการปฏิบัติการฝนหลวง ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักก่อนสิ้นสุดฤดูฝน ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ในกลางเดือนตุลาคมนี้

ซึ่งจากข้อมูลสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อยกว่า 60% ของความจุทั้งประเทศ ขณะนี้พบว่า ขนาดใหญ่ มีจำนวน 11 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ เขื่อนกิ่วลม 59% เขื่อนแม่กวงอุดมธารา 42% เขื่อนแม่มอก 27% ตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนลำพระเพลิง 56% เขื่อนมูลบน 54% เขื่อนห้วยหลวง 48% เขื่อนลำนางรอง 33% เขื่อนอุบลรัตน์ 31% ภาคกลาง เขื่อนกระเสียว 42% เขื่อนทับเสลา 26% ภาคใต้ เขื่อนบางลาง 46% ขนาดกลาง ขนาดกลาง 132 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 27 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 73 แห่ง ภาคตะวันออก 6 แห่ง ภาคกลาง 7 แห่ง ภาคตะวันตก 2 แห่ง ภาคใต้ 17 แห่ง รวมขนาดกลาง

แต่หากพิจารณาถึงจำนวนอ่างที่มีความจุน้อยกว่า 30% พบว่า มีเขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่เขื่อนแม่มอก 27% และเขื่อนทับเสลา 26% ส่วนขนาดกลางมีทั้งสิ้น 33 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ 3 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21 แห่ง ภาคตะวันออก 3 แห่ง ภาคกลาง 2 แห่ง และภาคใต้ 4 แห่ง