posttoday

ไอเดียก้าวล้ำกับหมอเกาหลี...(17)

23 กันยายน 2561

ไอเดียสุดเลิศของเพื่อนเกาหลีสองคน ทันตแพทย์กับรังสีแพทย์ ซึ่งทั้งสองเชี่ยวชาญในงานของตนเองและใช้เวลาฝึกฝนมาหลายปี จึงได้สร้างไอเดียใหม่ในการเก็บรักษาประวัติคนไข้ผสานกับเทคโนโลยี

โดย ดร.เพียงออ เลาหะวิไลย

“ขึ้นเขาคำนับอาจารย์ 10 ปีผ่านจึงสำเร็จ เคล็ดวิชา”...ในยุคที่บู๊ลิ้มยังเฟื่องฟู ใครๆ ก็ส่งบุตรหลานไปเล่าเรียนวิชายุทธ์เช่นนี้ ระยะเวลา 10 ปีที่จะผนึกพลังปราณจนสำเร็จเป็นจอมยุทธ์มังกรฟ้านั้น ช่างตรงกับการค้นคว้าของศาสตราจารย์ Howard Gardner แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยิ่งนัก... ท่านคิดค้น “กฎ 10 ปี” (Ten-year rule) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่จะสามารถสร้างจอมยุทธ์ผู้หนึ่งขึ้นมาได้

จอมยุทธ์ คือ ผู้มีความชำนาญ เกิดความเชี่ยวชาญหลังจากทุ่มเทฝึกฝนผ่านวันคืนนานราว 1 หมื่นชั่วโมง เมื่อรู้ลึกซึ้งในเคล็ดวิชาจึงจะสามารถพลิกแพลงเพลงกระบี่ สร้างสรรค์ท่วงท่าและถ่ายพลังปราณที่พิสดารได้... ในขณะเดียวกัน การสร้างคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ชั้นยอดสักคนมาสร้างนวัตกรรม ก็ต้องการเวลาในการฝึกฝนเช่นเดียวกัน... แต่ในยุคสมัยนี้คงมิอาจจะรอจนถึง 10 ปีค่ะ เพราะวงจรชีวิตของสินค้าและบริการ (Product Life Cycle) นั้น หดสั้นลงเรื่อยๆ จากการเปลี่ยนเทคโนโลยีและคู่แข่งรายใหม่ที่เกิดขึ้นรวดเร็วมาก ผู้คนมิอาจรอเนิ่นนานไป

ดูอย่างเช่น ไอเดียสุดเลิศของเพื่อนเกาหลีสองคน คือ ทันตแพทย์คนหนึ่ง กับรังสีแพทย์คนหนึ่ง ซึ่งทั้งสองเชี่ยวชาญในงานของตนเองและใช้เวลาฝึกฝนมาหลายปี มีรายได้ไม่น้อยเลย แต่แล้วหมอ “โก อู คยอน” ซึ่งเคยเป็นทั้งวิศวกรและหมอฟัน กับหมอ “ลี เอิน ซอล” อดีตรังสีแพทย์ ก็ค้นพบว่ามีสิ่งที่ชอบมากกว่าการตรวจรักษาคนไข้ และก็คงจะเห็น Gap หรือช่องว่างทางธุรกิจที่จะเปิดโอกาสใหม่ได้ จึงได้สร้างไอเดียใหม่ในการเก็บรักษาประวัติคนไข้ผสานกับเทคโนโลยี ในที่สุดบริษัท Startup ใหม่ของพวกเขาประสบความสำเร็จในการระดมทุนถึง 30 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ (ราว 1,000 ล้านบาท) เพื่อใช้ลงทุนสร้างโปรแกรมในระบบ Blockchain และออก “โทเคน” หรือเงินเหรียญดิจิทัล “Crypto Currency” แก่ประชาชนผู้สนใจจะร่วมลงทุนด้วย

ไอเดียก้าวล้ำกับหมอเกาหลี...(17)

ไอเดียใหม่ ไม่ต้องไปมองไกลเลย ให้มองสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวซึ่งเริ่มที่ปัญหาและความต้องการที่จะแก้ไขให้ดีขึ้นก่อน … ดังเช่น สองหนุ่มวัย 33 ปีนี้ พวกเขาอยู่ในวงการแพทย์พบเจอกับคนไข้ทุกวัน เห็นพฤติกรรมของคนไข้ตลอดทาง ก็พบว่า คนไข้แต่ละคนไปรักษาเฉพาะทางจากหลายโรงพยาบาล เช่น ทำฟันที่โรงพยาบาลหนึ่ง ตรวจหัวใจที่โรงพยาบาลหนึ่ง รักษาหัวเข่าที่โรงพยาบาลหนึ่ง เอกซเรย์ที่ศูนย์เฉพาะทางแห่งหนึ่ง จึงทำให้ประวัติคนไข้กระจัดกระจาย เวลาต้องการจะดูประวัติด้านต่างๆ ค้นหาได้ยาก เข้าถึงได้ยาก ดังนั้นพวกเขาเลยคิดถึงแอพพลิเคชั่นที่รวบรวมประวัติคนไข้จากทุกที่มาอยู่ด้วยกัน คนไข้สามารถดูประวัติของตนเองได้ซึ่งเป็นเหมือน “การคืนกลับสิทธิพื้นฐานอันชอบธรรม” ให้แก่ผู้ป่วยเลยทีเดียว

ทั้งนี้ เพราะโดยปกติ บันทึกทางการแพทย์ส่วนบุคคลจะต้องจัดเก็บและจัดการโดยโรงพยาบาล ภายใต้กฎระเบียบความเป็นส่วนตัวที่เข้มงวด ซึ่งห้ามไม่ให้มีการเปิดเผย แม้ว่าจะช่วยป้องกันข้อมูลได้แต่ก็เกิดความไม่สะดวกแก่ผู้ป่วย...ให้นึกถึงเวลาเราต้องการดูประวัติของตนเอง เช่น อยากจะดูผลตรวจเลือดคราวที่แล้วว่า เป็นอย่างไรบ้าง เราต้องไปเข้าคิวรอพบแพทย์และร้องขอให้แพทย์เปิดให้ดู พยาบาลหรือใครในโรงพยาบาลก็ไม่มีสิทธิเปิดให้เราดู รอก็นานแถมบางทีเจอหมอดุเอาอีกว่าเราเรื่องมาก จะดูทำไม ทำตามที่หมอบอกก็พอ...ด้วยเหตุนี้ แอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า MediBloc ของทั้งสองหมอจึงได้รับความสนใจอย่างล้นหลามค่ะ

MediBloc ก่อตั้งเมื่อปีที่แล้วเองค่ะ พวกเขาเริ่มสร้างแพลตฟอร์มข้อมูลด้านสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ชุดใหม่ ซึ่งออกแบบให้ผู้ป่วยเป็นเจ้าของเวชระเบียนของตัวเอง และเนื่องจากใช้พื้นฐานแพลตฟอร์มบน Blockchain จึงสามารถมั่นใจได้ว่าระเบียนที่เก็บไว้โดยผู้ป่วยยังคงเป็นของแท้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่งผลให้สามารถลดปัญหาการต้องตรวจสุขภาพเบื้องต้นซ้ำทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาลใหม่เพราะบันทึกของผู้ป่วยไม่ได้รับการถ่ายโอนระหว่างโรงพยาบาล...ทุกวันนี้ ไม่มีฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เดียวที่มีประวัติสุขภาพของผู้ป่วยจากหลายสถาบันในที่เดียว

ไอเดียก้าวล้ำกับหมอเกาหลี...(17)

แล้วทำไมจึงต้องใช้ Blockchain ... คำตอบ คือ แม้ว่าโรงพยาบาลจะสามารถสร้างฐานข้อมูลการเข้าถึงที่ใช้ร่วมกันได้ก็ตาม แต่ก็ยังเป็นไปไม่ได้เพราะมีข้อจำกัดในการจัดการบันทึกสุขภาพส่วนบุคคล ทว่า หากผู้ป่วยเองกลายเป็นเจ้าของและผู้จัดการที่เชื่อถือได้ของเวชระเบียนของตนก็ย่อมสามารถเป็นไปได้ MediBloc จึงเชื่อว่าจะสามารถสร้างระบบบันทึกทางการแพทย์ที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางโดยใช้ Blockchain ซึ่งเป็นฐานข้อมูลแบบแยกประเภทแบบเปิดและแบบกระจายซึ่งจะบันทึกการทำธุรกรรมระหว่างผู้เข้าร่วมเครือข่ายทั้งหมด ชุดของบล็อกที่บันทึกจะมีป้ายกำกับด้วยฟังก์ชั่นแฮชและแสตมป์เวลาที่ใช้ร่วมกันกับผู้เข้าร่วมทุกคนในเครือข่าย Blockchain

ดังนั้น เมื่อข้อมูลใหม่ถูกบันทึกไว้ใน Blockchain แล้วจะไม่สามารถแก้ไขลบหรือเขียนทับได้ ข้อมูลสุขภาพจะถูกเก็บไว้ในสภาพเดิมตลอดเวลานั่นเอง และผู้ป่วยจะสามารถจัดการข้อมูลทางการแพทย์ทั้งหมดของพวกเขาผ่านทางโทรศัพท์มือถือของพวกเขาเอง เมื่อไปรับการรักษาอย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาลใด โรงพยาบาลก็จะสามารถเข้าถึงเวชระเบียนของผู้ป่วยคนนั้นได้อย่างสะดวก หลังจากที่แพทย์ป้อนข้อมูลของผู้ป่วยลงในฐานข้อมูล MediBloc แล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้ ข้อมูลยิงตรงเข้าระบบ ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมาเกี่ยวข้องซึ่งทำให้ลดเวลา และลดข้อผิดพลาดหรือสูญหายได้...

ไม่ช้าไม่นานหรอกค่ะ ระบบนี้ก็จะเข้ามาเมืองไทย เพราะไอบีเอ็มได้ทำนายไว้แล้วว่า ภายในในปี 2020 มากกว่าครึ่งหนึ่งของโรงพยาบาลในโลกจะใช้เทคโนโลยี Blockchain เช่นนี้ค่ะ