posttoday

37เขื่อนระดับน้ำต่ำกว่า30%ของความจุ หวั่นไม่พอใช้ช่วงแล้ง

20 กันยายน 2561

สทนช. ห่วง 37เขื่อนน้ำต่ำกว่า 30% ของความจุหวั่นวิกฤตไม่พอใช้ช่วงฤดูแล้ง เตรียมประสานฝนหลวงบินเติมน้ำ

สทนช. ห่วง 37เขื่อนน้ำต่ำกว่า 30% ของความจุหวั่นวิกฤตไม่พอใช้ช่วงฤดูแล้ง เตรียมประสานฝนหลวงบินเติมน้ำ

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 21-25 ก.ย. จะยังมีฝนตกหนักบางแห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขณะเดียวกันกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(สสนก.) ระบุว่าสถานการณ์ฝนเริ่มลดลง ในภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งต้องเร่งวางแผนเก็บกักน้ำและเติมน้ำโดยประสานกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ทำฝนหลวงเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อยกว่า 60% รวม 20 แห่ง แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนกิ่วลม และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ขนาดกลาง 18 แห่ง

ทั้งนี้ที่ต้องติดตามเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ปัจจุบันมีถึง 37 แห่ง แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่มอก 26% เขื่อนทับเสลา 26% และขนาดกลาง 35 แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ 4 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 22 แห่ง ภาคตะวันออก 3 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง ภาคใต้ 5 แห่ง โดยสทนช.จะเรียกประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ วันที่ 24 ก.ย. นี้เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำต้นทุนน้อย ปี 61-62 เพื่อลดผลกระทบ ในฤดูแล้งในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลังจากพายุมังคุดออนตัวเป็นดีเปรสชั่น พบว่าในบางเขื่อนต้องปรับลดการระบายเพื่อกักเก็บน้ำให้ไว้สำหรับการใช้ในฤดูแล้ง โดยในลุ่มเจ้าพระยา ชะลอการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 574 ล้าน ลบ.ม. หรือ 59 % ของความจุอ่างฯ ในขณะที่ฤดูฝนคงเหลืออีกประมาณ 1 เดือนเศษๆ จึงต้องวางแผนเก็บกักน้ำไว้ในอ่างฯให้ได้มากที่สุด โดยจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกภายในวันที่ 30 ก.ย. 61 จะทยอยเก็บกักน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ 700 ล้าน ลบ.ม. และช่วงที่ 2 ภายในวันที่ 15 ต.ค. 61 จะทยอยเก็บกักน้ำให้อยู่ในระดับเก็บกัก คือ 900 – 960 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทยอยปรับลดการระบายน้ำเป็นขั้นบันได

โดยจะเริ่มลดการระบายตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. 61 ให้เหลือในเกณฑ์ 330 ลบ.ม./วินาที และในวันที่ 21 ก.ย. 61 จะทยอยปรับลดการระบายให้เหลือ 250 ลบ.ม./วินาที จากที่ปัจจุบัรระบายในปริมาณ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที พร้อมกับติดตามสถานการณ์น้ำด้านท้ายน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ณ 20 ก.ย. 61 มีปริมาณน้ำรวมกัน 17,646 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 71% ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำใช้การได้ 10,950 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 60% ของปริมาณน้ำใช้การได้ ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 7,200 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่ สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ วันที่ 20 ก.ย. 61 ปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ วัดได้ 967 ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 5.93 เมตร และมีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเท่ากับ วานนี้ในอัตรา 649 ลบ.ม./วินาที รับน้ำเข้าฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกรวม 315 ลบ.ม./วินาที มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่ อ.บางไทร เฉลี่ย 1,092 ลบ.ม./วินาที สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากอิทธิพลพายุดีเปรสชั่นมังคุดอ่อนกำลังลง ทำให้มีปริมาณฝนตกทางตอนบนของประเทศไทยลดลงตามไปด้วย