posttoday

บทเรียนจากแนนโน๊ะ

17 กันยายน 2561

ซีรี่ส์เด็กใหม่นี้ นอกจากจะชมเพียงความบันเทิง ยังมีแง่มุมทางด้านการตลาดด้วย

เรื่อง CJ Worx

ซีรี่ส์เด็กใหม่ ออนแอร์มาเกินครึ่งทางจาก 13 ตอน ที่มาจากข่าวจริง 13 เรื่อง แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงความบันเทิง เพราะมีแง่มุมทางด้านการตลาดด้วยเช่นกัน ผู้สร้างสรรค์คือ SOUR BANGKOK เอเยนซีโฆษณา ได้สร้างแง่มุมที่แตกต่างออกไป และบทเรียนที่ได้จากคนทำโฆษณามาสู่การผลิตรายการบันเทิงเช่นกัน

ในฐานะเรียกว่าเป็น แม่แนนโน๊ะ ดมิสาฐ์ องค์ศิริวัฒนา Co-Founder & Executive Creative Director ของ SOUR SOUR BANGKOK แชร์ประสบการณ์ผลิตซีรี่ส์เรื่องนี้ไว้น่าสนใจ ดังนี้

  1. ผู้บริโภคยุคนี้มีความรู้และฉลาดมาก เนื่องจากซีรี่ส์เด็กใหม่ มีความอาร์ตสูงมาก ในช่วงแรกเกรงว่าคนดูจะงงกับเรื่องราว จึงใช้ดิจิทัลมีเดียเป็นตัวสร้างความเข้าใจ รวมถึงบอกกฎกติกาให้เข้าใจว่า ซีรี่ส์นี้เป็นอย่างไร ผลที่ออกมาคือ สถิติของโพสต์ ชื่อ เรื่องต้องรู้ก่อนดูแนนโน๊ะกลายเป็นโพสต์ที่มียอดเอนเกจเมนต์สูงสุด
  2. ไม่มีแบรนด์ในเนื้องาน ทำให้ผู้ชมเปิดใจในการชมมากขึ้น เพราะงานโฆษณาส่วนใหญ่เน้นการสร้างแบรนด์หรือสร้างยอดขาย หรือเห็นตัวสินค้า ทำให้ผู้ชมเหมือนมีกำแพงในการชมงานโฆษณาอยู่ระดับหนึ่ง
  3. ความเหมือนที่แตกต่างของศาสตร์การทำโฆษณากับรายการบันเทิง ชิ้นงานโฆษณาต้องบอกวัตถุประสงค์กับผู้ชมโดยทันทีว่า ต้องการสื่อสารอะไร แต่ในงานบันเทิงต้องเป็นแนวคำถามปลายเปิดเท่านั้น อาทิ ชวนคนมาวิจารณ์ วิพากษ์ ถึงจะเกิดพลังการมีส่วนร่วมจากผู้ชม
  4. ผู้บริโภคยอมรับรูปแบบของรายการบันเทิงมากกว่าโฆษณาบางครั้งชิ้นงานโฆษณาหากมีความหมิ่นเหม่ไปเชิงความรุนแรงหรือดาร์ก ก็อาจถูกโต้แย้งจากผู้บริโภคอย่างมาก ในขณะที่ในมุมของรายการบันเทิงแล้ว ตบจูบ หรือความรุนแรงอื่นๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ผู้ชมกลับยอมรับได้นั่นเป็นเพราะพฤติกรรมของผู้ชมต้องการปลดปล่อยจากสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในชีวิตจริง

เพราะทุกการกระทำสร้างประสบการณ์ทำให้เกิดการเรียนรู้ หากเรียนรู้จากตัวเองว่ายากแล้ว การเรียนรู้ผู้อื่นเพื่อพิชิตใจพวกเขานั้นยากยิ่งกว่า แต่ไม่มีอะไรยากเกินความพยายาม