posttoday

ลงพื้นที่ส่องทำเลทองไฮสปีด

15 กันยายน 2561

กลุ่มทุนยื่นประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รุกสำรวจเส้นทาง หวั่นโครงการไม่เกิด

กลุ่มทุนยื่นประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รุกสำรวจเส้นทาง หวั่นโครงการไม่เกิด

แหล่งข่าวจากผู้เข้าประมูลรถไฟความเร็วสูง กล่าวหลังสำรวจพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 9 สถานี โดยเริ่มเก็บข้อมูลจากสถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ไปจนถึงสนามบินอู่ตะเภาว่า โครงการแอร์พอร์ตลิงค์มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท ที่เปิดเมื่อปี 2554 จำนวน 8 สถานี ระยะทาง 28.7 กม. ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการวันละ 7.1 หมื่นเที่ยวคน/วัน ซึ่งตามแผนจะมี ผู้ใช้ 1.2 แสนเที่ยวคน

"หากผู้ประมูลได้จะมาแก้ปัญหาต้องแก้เรื่องความไม่พอของรถไฟฟ้า เพื่อรับกับสองข้างทางที่เปิดหน้าดินพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น ถ้าเป็นพื้นที่ใกล้เมืองจะเป็นโครงการคอนโดมิเนียม ส่วนพื้นที่ไกลออกไปจะเป็นโครงการแนวราบ"

สำหรับเส้นทางผ่าน จ.ฉะเชิงเทรา มีประชากร 8 แสนคน เนื้อที่ 3.3 ล้านไร่ อาชีพหลัก  เกษตรกร ปศุสัตว์ อุตสาหกรรมและการค้า เดินทางด้วยรถยนต์จะมีระยะทาง 80 กม. ใช้เวลา 1 ชั่วโมง (ชม.) หากเป็นรถไฟความเร็วสูงจะใช้เวลา 30 นาที พื้นที่ฉะเชิงเทราอยู่ในเขตอีอีซีที่มี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ปัจจุบันมี อาทิ นิคมอุตสาหกรรมบีพีโรงงานโตโยต้า บ้านโพธิ์ นิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี ผลิตประกอบรถยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ ผลิตประกอบรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ พื้นที่สำคัญจะอยู่บริเวณ จ.ชลบุรี มีประชากรกว่า 1.5 ล้านคน  มีเนื้อที่กว่า 2.7 ล้านไร่ อาชีพหลักเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ ห่างจากกรุงเทพฯ 80 กม. เดินทางโดยรถใช้เวลา 1.30 ชม. หากใช้รถไฟความเร็วสูงจะใช้เวลา 30 นาที ในชลบุรี ประกอบด้วย นิคม 14 แห่ง โดยเฉพาะนิคมอมตะพื้นที่ 2.5 หมื่นไร่

ขณะที่จุดสิ้นสุดรถไฟความเร็วสูงจะมาสิ้นสุดที่สนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง ที่การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาตามนโยบายของกองทัพเรือ เน้นให้เป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ (รองจากสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง) ซึ่งจะมีอาคารผู้โดยสารใหม่รองรับผู้โดยสารได้ 3 ล้านคน/ปี และในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้ามีเป้าหมายให้การพัฒนาเชิงพาณิชย์ให้สามารถรองรับ ผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคน/ปี สนามบินอู่ตะเภาปี 2559 (1 ต.ค. 2558-30 ก.ย. 2559) มีเกือบ 7 แสนคน เพิ่มเป็นกว่า 1 ล้านคนต่อปีในปีงบฯ 2560 และคาดว่าในปีงบฯ 2561 จะมีแนวโน้มเติบโตเป็น 1.5-2 ล้านคน/ปี

ด้าน จ.ระยอง มีประชากรกว่า 7 แสนคน มีเนื้อที่ 2.2 ล้านไร่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมระยะห่างจากกรุงเทพฯ 190 กม. รถยนต์ใช้เวลาเดินทาง 2.30 ชม. รถไฟความเร็วสูงใช้เวลา 1 ชม. ภายในจังหวัดมีพื้นที่อุตสาหกรรม 20 แห่ง กว่า 6 หมื่นไร่

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ข้อมูลจากการยื่นประมูลระบุว่าเอกชนจะต้องซื้อกิจการแอร์พอร์ตลิงค์ได้สิทธิการพัฒนาที่ดิน เช่น ที่ดินการรถไฟ รฟท. 100 ไร่ อาทิ ทำเลศรีราชา มักกะสัน มูลค่าโครงการรวมกว่า 2 แสนล้านบาท สิทธิบริหารโครงการกว่า 50 ปี หากมีระยะสั้นกว่านั้น จะไม่คุ้มการลงทุน โดยรูปแบบการประมูลต้องเป็นแบบ Net Cost ต้องเสนอส่วนแบ่งรายได้ สูงสุดให้แก่รัฐบาล ซึ่งรายใดที่มีวิธีบริหารจัดการที่ดีเสนอผลประโยชน์ได้สูงสุดจะเป็นผู้ได้งานดังกล่าว และหากโครงการรถไฟความเร็วสูงไม่เกิดจะกระทบโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ให้เดินหน้าต่อยาก

ภาพประกอบข่าว