posttoday

กรมชลฯเตรียมรับมืออิทธิพล "พายุมังคุด-บารีจัต" คาดกระทบไทย 15-17 ก.ย.

11 กันยายน 2561

กรมชลประทานเตรียมพร้อมรับมืออิทธิพลจาก "ไต้ฝุ่นมังคุด และ พายุโซนร้อนบารีจัต" ที่จะส่งผลกระทบต่อไทย15-17 ก.ย.นี้

กรมชลประทานเตรียมพร้อมรับมืออิทธิพลจาก "ไต้ฝุ่นมังคุด และ พายุโซนร้อนบารีจัต" ที่จะส่งผลกระทบต่อไทย15-17 ก.ย.นี้

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ช่วงวันที่ 13 – 16 ก.ย. 61 มีฝนเพิ่มมากขึ้นกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ และช่วงวันที่ 15 - 17 ก.ย. 61 พายุไต้ฝุ่นมังคุด (MUNNGKHUT) จะเคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ และพายุโซนร้อนบารีจัต จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ฮ่องกง ไต้หวัน จะส่งผลให้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลางและภาคตะวันออกมีฝนเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้กรมชลนได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยการลดการระบายน้ำจากเขิ่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เพื่อพร่องลำน้ำเจ้าพระยาสำหรับรับฝนที่ตกในพื้นที่ และ 13 ทุ่งแก้มลิง ที่ขณะนี้เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเกือบ 100 %

นอกจากนั้นน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ในอ่างฯรวมกัน 57,591 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) 76% เป็นน้ำใช้การได้ 33,660 ล้าน ลบ.ม. 65 %ยังรองรับน้ำได้อีก 18,516 ล้าน ลบ.ม.

เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 16,994 ล้าน ลบ.ม. หรือ68% น้ำใช้การได้รวมกัน 10,298 ล้าน ลบ.ม. รองรับน้ำได้อีก 7,877 ล้าน ลบ.ม.

เบื้องต้นระดับน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ไหลผ่านสถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่านในอัตรา 928 ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 5.90 เมตร ก่อนเข้าเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งได้นำน้ำเข้าระบบชลประทาน ทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ในอัตรารวมกัน 448 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนพระยา เป็นการเพิ่มพื้นที่ลำน้ำรับปริมาณฝนที่รอบต่อไป ควบคุมการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ประมาณ 671 ลบ.ม./วินาที

สำหรับพื้นที่รับน้ำหลากใน12ทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างและตอนบน 1 ทุ่ง รวม 13 ทุ่ง ได้ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด แจ้งเกษตรกรล่วงหน้าให้เก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จก่อนกลางเดือนนี้ โดยขณะนี้มีพื้นที่แก้มลิง 2 ทุ่ง คือทุ่งบางระกำและทุ่งเชียงราก สามารถรับน้ำหลากได้แล้ว แต่สถานการณ์น้ำในช่วงนี้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ภาพ เอเอฟพี