posttoday

ยื่นศาลแก้1ล้านซิมดับ15ก.ย.

07 กันยายน 2561

ดีแทค จ่อร้องศาลปกครอง คุ้มครองซิมดับ หากกสทช.ไม่เยียวยา ส่วนทรูชี้แจง ตลท.เงินคุ้มครองผู้ใช้ไม่ถึง 3,300 ล้าน

ดีแทค จ่อร้องศาลปกครอง คุ้มครองซิมดับ หากกสทช.ไม่เยียวยา ส่วนทรูชี้แจง ตลท.เงินคุ้มครองผู้ใช้ไม่ถึง 3,300 ล้าน

นายราจีฟ บาวา รองประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เปิดเผยว่า ดีแทค ได้ยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2561 เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว เพื่อสิทธิประโยชน์ของลูกค้าดีแทคใช้งานคลื่น 850 MHz

ทั้งนี้ ในวันที่ 15 ก.ย. 2561 ดีแทค จะสิ้นสุดสัมปทานคลื่นความถี่ 850 MHz แต่ กสทช.ยังไม่ได้มีมติมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว กรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานคลื่น 850 MHz ขณะที่ดีแทคมีลูกค้าในระบบสัมปทานกับ CAT ราว 9 หมื่นราย และลูกค้าดีแทค ไตรเน็ต (DTN) ที่ใช้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศทั่วประเทศ 1 ล้านราย ที่จะได้ผลกระทบจากการใช้งานของลูกค้า

อย่างไรก็ดี กรณีไม่ได้รับการคุ้มครองจากมาตรการเยียวยาของ กสทช.และคำสั่งคุ้มครองจากศาลปกครองกลางได้ทันก่อนวันที่ 15 ก.ย. 2561 คลื่น 850 MHz หยุดให้บริการ ลูกค้า 9 หมื่นรายต้องซิมดับ และลูกค้า ดีแทค ไตรเน็ตที่ส่วนใหญ่จะอยู่ต่างจังหวัดหรือนอกเมือง 1 ล้านรายที่จะได้รับผลกระทบ ทางดีแทคจะชดเชยลูกค้า อาทิ แบบรายเดือนต้องซิมดับ ทางดีแทคจะไม่เก็บค่าบริการ

นอกจากนี้ ยังเพิ่มคอลเซ็นเตอร์อีก 50% เพื่อติดต่อลูกค้า ส่วนลูกค้า 9 หมื่นราย การติดต่อย้ายคลื่นก่อนสิ้นสุดสัมปทาน ถือว่าเป็นกลุ่มที่ติดต่อยาก เพราะอยู่พื้นที่ห่างไกล รวมถึงลูกค้าอีก 1 ล้านรายที่ได้รับผลกระทบมีแคมเปญสายด่วนและสิทธิพิเศษต่างๆ หากบริษัทไม่ได้รับการเยี่ยวยาคลื่น 850 MHz บริษัทจะอาจจะพิจารณาไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz

นายบาวา กล่าวว่า ดีแทคได้เร่งขยายเสาสัญญาณคลื่นดีแทคเทอร์โบ 2300 MHz ของทีโอทีอย่างต่อเนื่อง และยังได้เร่งขยายโครงข่าย 2100 MHz เพื่อทดแทนประสิทธิภาพของคลื่น 850 MHz และยังได้ย้ายลูกค้าจำนวน 3.4 แสนราย ที่ยังใช้ซิมดีแทคเดิมให้เปลี่ยนมาใช้ซิม DTN ภายใต้ระบบใบอนุญาต

ในส่วนบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ส่งเอกสารถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หลัง กสทช.ให้ทรูมูฟนำส่งเงินรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คลื่น 1800 MHz ในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการ 3,381.95 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่สูงเกินจริง

ส่วนกรณีข้อพิพาทกับบริษัท ทีโอที ในเรื่องการเรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL) จะดำเนินการอุทธรณ์ตามขั้นตอนทางกฎหมาย เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการ