posttoday

สนค.ปรามผู้ประกอบการปลากระป๋องขอขยับราคา

04 กันยายน 2561

สนค.ชี้รัฐเพิ่มวงเงินบัตรคนจนเติมกำลังซื้อให้ประชาชนฐานรากไม่กระทบเงินเฟ้อติงผู้ประกอบการจึงไม่ควรฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้า

สนค.ชี้รัฐเพิ่มวงเงินบัตรคนจนเติมกำลังซื้อให้ประชาชนฐานรากไม่กระทบเงินเฟ้อติงผู้ประกอบการจึงไม่ควรฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้า

พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาส 4 คาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 1.5% เนื่องจากราคาอาหารสูงขึ้นเป็นหลัก ส่วนราคาพลังงานน่าจะอยู่ระดับทรงตัว แต่เชื่อว่าเงินเฟ้อไตรมาส 4 แม้จะปรับตัวสูงขึ้นก็ไม่เกินกว่าคาดการณ์ เพราะสินค้าในกลุ่มที่ถูกเก็บภาษีสรรพสามิต เช่น บุหรี่ สุรา เบียร์ จะไม่มีแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ เพราะฐานราคาได้ปรับขึ้นใกล้เคียงกับปีก่อนแล้ว ทำให้ทั้งปี 2561 คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้นที่ระดับ 1.2% หรือเป็นไปตามกรอบที่ประเมินไว้ คือ ขยายตัว 0.8-1.6% ภายใต้สมมติฐาน คือ เศรษฐกิจไทยขยายตัว 4.2-4.7% น้ำมันดิบตลาดดูไบ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาท/ดอลลาร์ และการส่งออกสูงกว่า 8% โดย สนค.ประเมินว่าส่งออกทั้งปี 2561 น่าจะเติบโตได้ 8.5-9%

"ส่วนการที่รัฐบาลได้เพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 100-200 บาท ให้สามารถกดออกมาเป็นเงินสดได้นั้น เป็นการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนฐานราก ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไม่ควรฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้า ดังนั้นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้มงวดในการติดตามและไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับราคาสินค้าจากเหตุผลดังกล่าว" พิมพ์ชนก กล่าว

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (เงินเฟ้อพื้นฐาน) หักกลุ่มพลังงานและอาหารสด เดือน ส.ค. 2561 เท่ากับ 102.11 สูงขึ้น 0.75% เทียบกับ ส.ค. 2560 และสูงขึ้น 0.01% เทียบกับ ก.ค. 2561 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐาน 8 เดือน 2561 เพิ่ม 0.71% เมื่อหัก กลุ่มพลังงานออกไป พบว่าเงินเฟ้อ ขยายตัว 0.6% สะท้อนว่าเศรษฐกิจ ไทยเริ่มขยายตัว โดยมีกำลังซื้ออยู่ในเกณฑ์ดีขึ้น ประเมินจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ของกระทรวงการคลังเพิ่มสูงขึ้น ปริมาณการบริโภคของภาคเอกชนดีขึ้น

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่น ผู้บริโภคที่ สนค.จัดทำ โดยสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ 3,500 คน เกี่ยวกับความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย พบว่า เดือน ส.ค. 2561 ดัชนีความเชื่อมั่น ผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน อยู่ระดับ 37.6 จาก ก.ค. 2561 อยู่ระดับ 37.1 สะท้อนว่าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ขณะนี้มีผู้ผลิตปลากระป๋อง 1 ราย ได้ยื่นขอปรับราคาสินค้าเข้ามายังกรมการค้าภายใน โดยให้เหตุผลว่าเหล็กที่ใช้ผลิตกระป๋อง (ทินเพลต) มีราคาสูงขึ้นมาก ทำให้แบกรับต้นทุนไม่ไหวจึงต้องปรับราคาสินค้า ซึ่งกรมอยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบว่ามีต้นทุนวัตถุดิบที่ผลิตปลากระป๋องรายการใดปรับขึ้นราคาบ้าง เพื่อดูต้นทุนโครงสร้างการผลิตให้ครอบคลุมทั้งหมด เช่น วัตถุดิบหลัก คือ เนื้อปลา หากไม่ขึ้นราคา แต่ขึ้นเฉพาะกระป๋องที่ใช้บรรจุ อาจจะให้เอกชนบริหารจัดการ เพื่อลดต้นทุนในส่วนอื่นๆ ไปก่อนและยังไม่ปรับขึ้นราคา หรือหากจะมีการปรับราคาอาจจะปรับขึ้นไม่เท่ากับที่ผู้ผลิตขอมา

บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีสินค้าปลากระป๋องขอปรับขึ้นราคา แต่โดยหลักการของกฎหมายแล้ว ผู้ประกอบการสามารถยื่นเรื่องขอปรับราคาเข้ามายังกรมได้ ส่วนจะได้รับการอนุมัติหรือไม่นั้น ต้องขอศึกษาโครงสร้างต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับขึ้นอีกครั้ง โดยยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีผู้ผลิตปลากระป๋องรายใดปรับขึ้นราคา

รายงานข่าว แจ้งว่าก่อนหน้านี้สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปจะทำหนังสือมายังกรมการค้าภายใน เพื่อขอเข้าพบและให้ช่วยแก้ไขปัญหาผล กระทบต้นทุนการผลิตอาหารกระป๋องสูงขึ้น จากวัตถุดิบทินเพลตปรับขึ้นราคาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2560 จนถึงปัจจุบันมีการปรับราคาทินเพลตขึ้นแล้ว 6 ครั้ง โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักจะมีตั้งแต่ ผู้ผลิตผักผลไม้ และอาหารทะเลที่ต้องใช้กระป๋องบรรจุ

สำหรับผู้ผลิตกระป๋องที่ใช้บรรจุอาหารของไทยมีประมาณ 10 กว่าราย โดยผู้ผลิตอาหารจะซื้อกระป๋องสำเร็จรูปจากผู้ผลิตกระป๋องกลุ่มนี้ที่จะต้องนำเข้าเหล็กม้วนมารีดทำกระป๋อง

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบราคาสินค้าที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อของเดือน ส.ค. 2561 พบว่า สินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. 2560 มีกาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่มปรับราคาสูงขึ้น เนื่องจากต้องใช้กระป๋องบรรจุเครื่องดื่ม