posttoday

เร่งแก้หนี้เกษตรกร เสนอครม.4ก.ย.ไฟเขียว

01 กันยายน 2561

"กฤษฎา" เดินหน้าแก้ปัญหา หนี้กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร นำร่องก้อนแรก 1.2 หมื่นล้าน ขณะที่ธกส.ยอมช่วยหั่นเงินต้น50%

"กฤษฎา" เดินหน้าแก้ปัญหา หนี้กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร นำร่องก้อนแรก 1.2 หมื่นล้าน ขณะที่ธกส.ยอมช่วยหั่นเงินต้น50%

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 4 ก.ย. จะเสนอมาตรการแก้ไขหนี้สินของสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยแนวทางแก้ไขในส่วนของหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นหนี้เอ็นพีแอลจำนวน 3.6 หมื่นราย คิดเป็นมูลหนี้ 1.2 หมื่นล้านบาท แยกเป็นเงินต้น 6,200 ล้านบาท และอัตราดอกเบี้ย 3,900 ล้านบาท

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ในฐานะเจ้าหนี้ยอมตัดเงินต้นให้ 50% และพักดอกเบี้ย  ขณะที่หนี้ส่วนที่เหลือให้ชำระภายใน 15 ปี  โดยในส่วนนี้เป็นหนี้ที่ กฟก.จะเข้าไปดำเนินการได้เอง 239 ราย ซึ่งมีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎหมายมูลหนี้ 106 ล้านบาท และตัดเงินต้น 50%  เช่นกัน ดังนั้น กฟก.จะขอรัฐช่วยเหลือเงินชดเชย 53 ล้านบาท

"ครั้งนี้เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ของ ธ.ก.ส. จึงไม่ต้องของบจากรัฐบาล  แต่ทาง ธ.ก.ส.ขอให้รัฐตั้งกรอบไว้ว่า กรณีที่ ธ.ก.ส.เสียหายจากโครงการนี้ ขอให้รัฐตั้งงบประมาณช่วยเหลือในฐานะเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะเร่งรัดสำนักงบประมาณให้เสนอเรื่องให้ทัน ครม. วันที่ 4 ก.ย. ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าลูกหนี้ไม่ใช่ของกระทรวง เพราะก่อนหน้านี้ สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแลและมีการโอนมาให้กระทรวงเกษตรฯ ช่วยเจรจา เจ้าหนี้ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเมื่อตรวจสอบก็พบว่าสำนักงานกองทุน กฟก.ฯ ไม่เคยมีการดูแลปล่อยให้มีการนำคน นำหนี้นอกกฎหมายกองทุนเข้ามามากมาย ทำให้สำนักงบประมาณ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ไม่สามารถจ่ายงบประมาณให้ได้ ซึ่งเกษตรกรที่ไปปิดล้อมธนาคารก็ควรมาเข้าระบบหนี้ เพื่อจะได้เจรจากับสถาบันเจ้าหนี้" นายกฤษฎา กล่าว

สำหรับหนี้ของธนาคารพาณิชย์อื่น หนี้สหกรณ์การเกษตร และสถาบันการเงินอื่นประมาณ 2,000 ราย ไม่รวมหนี้ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีประมาณ 600 ราย เงินต้น 500 ล้านบาท อยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าหนี้ ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากสมาชิกต้องการเงื่อนไขเดียวกับ ธ.ก.ส. ทางกระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างการช่วยเจรจา และในส่วนของหนี้สหกรณ์การเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์อยู่ระหว่างการหารือกับคณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2543-2560 กองทุนฟื้นฟูฯ มีคนสมัครเข้ามาถึง 4.68 แสนราย มูลหนี้รวมกว่า 1.85 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการรับสมาชิก โดยไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติทำให้มีทั้งหนี้บุคคลค้ำ  หนี้ญาติพี่น้อง หนี้นอกภาคเกษตร และบางรายมีหนี้มากถึง 5-22 ล้านบาท จากที่กฎหมาย กฟก.จะแก้หนี้เกษตรกรที่มีหนี้จากการทำการเกษตรมูลหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท

นายกฤษฎา กล่าวว่า ระหว่างนี้ กฟก.เปิดให้เกษตรกรที่มีหนี้เสียซึ่งยัง ไม่ได้รับการช่วยเหลือเข้ามาขึ้นทะเบียน หนี้เกษตรกรได้ภายใน 60 วัน จนถึงวันที่ 13 ต.ค. โดยยื่นคำขอได้ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในจังหวัดที่องค์กรเกษตรกรตั้งอยู่ในวันทำการด้วยตนเอง ซึ่งที่ผ่านเกษตรกรร้องเรียนว่าขั้นตอนยุ่งยาก ต้องใช้เอกสารมากเกินไปถึง 6-7 ชุด  แต่ล่าสุดได้ปรับลงเหลือเฉพาะ 3  ชุดที่สำคัญ