posttoday

บีทีเอสเผยช่วงพีคคลื่นรบกวนหนักทำขบวนรถกระตุกวันละ200-300ครั้ง

30 สิงหาคม 2561

"บีทีเอส"เผยช่วงปัญหาคลื่นรบกวนหนักทำขบวนรถกระตุกวันละ 200-300 ครั้ง ขีดเส้นแก้ปัญหาจบภายใน 1 เดือน คมนาคมแนะเพิ่มแนวทางเยียวยาผู้โดยสาร

"บีทีเอส"เผยช่วงปัญหาคลื่นรบกวนหนักทำขบวนรถกระตุกวันละ 200-300 ครั้ง ขีดเส้นแก้ปัญหาจบภายใน 1 เดือน คมนาคมแนะเพิ่มแนวทางเยียวยาผู้โดยสาร

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่ากระทรวงคมนาคมได้ปรับปรุงแผนบริหารความเสี่ยงและแผนเผชิญเหตุเมื่อเจอสถานการณ์รถไฟฟ้าขัดข้องเพื่อให้มีความชัดเจนด้านแนวทางดำเนินการหากเกิดเหตุและให้ครอบคลุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมและนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ได้ภายในเดือนก.ย.-ต.ค.นี้ โดยแผนใหม่นี้จะเพิ่มเรื่องของดัชนีชี้วัดความสำเร็จ(KPI)ของงานบริการรถไฟฟ้า แบ่งเป็น การกำหนดอัตราดีเลย์ต่อเดือนว่าห้ามเกินกี่ครั้ง รวมถึงอัตราการกระตุกจะต้องลดลงด้วยเช่นกัน

สำหรับเหตุการณ์บีทีเอสขัดข้องทางระบบอาณัติสัญญาณจากคลื่นรบกวนจนทำให้เกิดปัญหาในการเดินรถนั้นทางบีทีเอสได้รายงานว่าในช่วงที่เกิดปัญหาหนักนั้นเกิดเหตุรถไฟฟ้ากระตุกถึงวันละ 200-300 ครั้ง ขณะนี้บีทีเอสกำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณกว่า 200 จุดตามเส้นทางรถไฟฟ้าที่ให้บริการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนต.ค.นี้

ดังนั้นหลังจากเดือนต.ค.นี้บีทีเอสยืนยันว่าปัญหาดังกล่าวจะหมดไปอย่างแน่นอน โดยตั้งเป้าจะลดอัตราการกระตุกให้เหลือ 2-3 ครั้งต่อวัน ขณะที่รถไฟฟ้าใต้ดินและรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์นั้นยังไม่พบปัญหาของอาณัติสัญญาณมากนักเนื่องจากเป็นระบบที่ใหม่กว่าของรถไฟฟ้าบีทีเอส

สำหรับการกำหนดระดับปัญหาของระบบขนส่งรถไฟฟ้าที่ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารจะมีการแบ่งออกเป็นระดับ 5 ได้แก่ 1.ได้รับผลกระทบระดับน้อยมากใช้ระยะในการแก้ไขไม่เกิน 5 นาที (สีเหลือง) 2.ได้รับผลกระทบระดับน้อยใช้ระยะเวลาในการแก้ไขไม่เกิน 5- 15 นาที ในช่วงเวลาปกติ (สีเขียว) 3.ได้รับผลกระทบระดับปานกลางใช้ระยะเวลาในการแก้ไข 5-15 นาที ในช่วงเวลาเร่งด่วน (สีฟ้า) 4.ได้รับผลกระทบระดับสูงเหตุการณ์รุนแรงใช้ระยะเวลาในการแก้ไขเกิน 15 นาทีทั้งในเวลาเร่งด่วนและเวลาปกติ (สีส้ม) 5.ได้รับผลกระทบระดับสูงมากเหตุการณ์รุนแรงและหยุดให้บริการ (สีแดง)

นายสราวุธกล่าวต่อว่าสำหรับแนวทางการเยียวยาผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รถไฟฟ้าขัดข้องนั้นไม่เกี่ยวกับแผนเผชิญเหตุ แต่กระทรวงคมนาคมได้เสนอแนวทางให้บีทีเอสพิจารณาว่ามาตรการชดเชยผู้โดยสารนั้นอาจไม่จำเป็นต้องใช้เงินสดเสมอไป โดยทางเอกชนผู้ให้บริการอาจชดเชยเป็นอาหารหรือของกินแทนได้เพื่อสร้างกำลังใจที่ดีให้กับผู้โดยสาร เช่น เมื่อเกิดเหตุขัดข้องระหว่างทางอาจเตรียมอาหารหรือขนมไว้ที่สถานีปลายทางเพื่อคอยบริการ