posttoday

"ปตท.สผ."เร่งเพิ่มสัดส่วนร่วมทุนชิงหลุมก๊าซเอราวัณ

28 สิงหาคม 2561

ปตท.สผ.-เชฟรอน ลุ้นเคาะดีลสัดส่วนร่วมทุนชิงแหล่งก๊าซเอราวัณ รับประมูลรอบนี้ยากขึ้น เหตุเป็นหลุมเก่าปริมาณสำรองก๊าชลด

ปตท.สผ.-เชฟรอน ลุ้นเคาะดีลสัดส่วนร่วมทุนชิงแหล่งก๊าซเอราวัณ รับประมูลรอบนี้ยากขึ้น เหตุเป็นหลุมเก่าปริมาณสำรองก๊าชลด

นายพงศธร ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่สำรวจและผลิตปิโตรเลียม บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) เปิดเผยว่า ปตท.สผ.พร้อมยื่นซองประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกชที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานเดิมในวันที่ 25 ก.ย.นี้โดยในส่วนของแหล่งเอราวัณขณะนี้ ยังไม่สรุปว่าจะยื่นร่วมกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต หรือไม่ อยู่ระหว่างเจรจาหาข้อตกลงกับเชฟรอนในเรื่องของสัดส่วนการร่วมลงทุนเพิ่มให้มากกว่า 10% จากเดิมที่มีสัดส่วนการร่วมทุนอยู่ที่ 5% ส่วนแหล่งก๊าซบงกชนั้น เบื้องต้นคงจะไปยื่นร่วมกับโททาล ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์เดิม

ทั้งนี้ ปตท.สผ.ได้เตรียมพร้อมในการยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในทีโออาร์ ซึ่งการเปิดประมูลแหล่งก๊าซบงกชและเอราวัณในวันที่ 25 ก.ย.นี้ จะต้องเตรียมเงินยื่นซองประมูล 5 หมื่นบาท/ซอง และหลักประกันการยื่นคำขอ 3 ล้านบาท/แหล่งประมูล

“ปตท.สผ.เตรียมพร้อมในการยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคในการประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ โดยตามเงื่อนไขต้องเสนอรายชื่อพันธมิตรผู้ร่วมทุนให้เสร็จ ส่วนหลังจากเสนอไปแล้ว ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเลือกหน่วยงานรัฐใดมาถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 25% หรือไม่ ก็คงต้องแล้วแต่รัฐ ซึ่งบริษัทมั่นใจว่าสามารถดำเนินการได้ตามที่ภาครัฐกำหนดไว้ ในเงื่อนไขทั้งให้ผลิตก๊าซจาก 2 แหล่งรวม 1,500 ล้านลูกบาศ์กฟุต/วัน และให้ราคาก๊าซใกล้เคียงกับราคาปัจจุบัน”นายพงศธร กล่าว

ด้าน นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปเรื่องผู้ร่วมลงทุนว่าจะเป็นใคร แต่ก็ยังพร้อมเปิดประตูรับเสมอ โดยบริษัทแม่จะเป็นผู้พูดคุยกับ ปตท.สผ.ในเรื่องของสัดส่วนการร่วมทุนในการประมูลแหล่งเอราวัณเอง แต่หากตกลงกันไม่ได้ ในวันที่ 25 ก.ย.นี้ ก็จะทราบว่าพันธมิตรใหม่คือใคร แต่ยอมรับว่าการประมูลครั้งนี้จะเหนื่อยและยากขึ้น เพราะเป็นหลุมเก่า มีปริมาณก๊าซที่ลดลง ทำให้ต้องลงทุนเพิ่ม เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่ภาครัฐกำหนดเรื่องราคาและปริมาณการผลิตในช่วง 10 ปีที่ได้สัมปทานผลิตทั้งสองแหล่งรวม 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันนั้น นับเป็นเรื่องท้าทายมาก โดยหลังการยื่นประมูลแล้ว ภาครัฐต้องเร่งตัดสินใจ เพราะจะมีผลต่อการลงทุนของผู้ผลิต ซึ่งหากเจ้าเดิมหรือเจ้าใหม่ได้ผลิต จะได้วางแผนการลงทุนที่ชัดเจน