posttoday

อาหารกระป๋องกระอัก

25 สิงหาคม 2561

ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปเต้นเหล็กทำกระป๋องปรับขึ้นราคา 6 ครั้ง เตรียมเข้าพบพาณิชย์ ช่วยแก้ปัญหาหากไม่คลี่คลายอาจต้องขึ้นราคาสินค้า

ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปเต้นเหล็กทำกระป๋องปรับขึ้นราคา 6 ครั้ง เตรียมเข้าพบพาณิชย์ ช่วยแก้ปัญหาหากไม่คลี่คลายอาจต้องขึ้นราคาสินค้า

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ สมาคมจะทำหนังสือถึงกรมการค้า ภายใน เพื่อขอเข้าพบและให้ช่วยแก้ไขปัญหาผลกระทบต้นทุนการผลิตอาหารสำเร็จรูปจากราคาเหล็กที่ใช้ทำกระป๋อง (ทินเพลต) ปรับตัวสูงขึ้น ตั้งแต่ต้นปี 2560 จนถึงปัจจุบันได้ปรับขึ้นไปแล้ว 6 ครั้ง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าอาหารกระป๋องทั้งส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้า

ทั้งนี้ การปรับขึ้นราคาทั้งหมด 6 ครั้ง โดยไตรมาสแรกปี 2560 ปรับขึ้น 3,200 บาท/ตัน ไตรมาส 2 ปี 2560 ปรับขึ้น 600 บาท/ตัน ไตรมาส 3 ปี 2560 ปรับขึ้น 1,000 บาท/ตัน ไตรมาส 4 ปี 2560 ปรับขึ้น 1,500-1,700 บาท/ตัน ไตรมาสแรกปี 2561 ปรับขึ้น 1,000-1,500 บาท/ตัน และไตรมาส 2 ปี 2561 ปรับขึ้นอีก 1,000 บาท/ตัน หรือขึ้นแล้วรวม 9,000 บาท/ตัน

"กลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักๆ จะมีตั้งแต่ผู้ผลิตผักผลไม้และอาหารทะเล ที่ต้องใช้กระป๋องบรรจุ แต่ละกลุ่มได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับราคาสินค้าที่จำหน่าย อย่างอาหารทะเลสามารถจำหน่ายได้ราคาสูง จะมีสัดส่วนทินเพลต ต่อต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 15% แต่ถ้าเป็น กลุ่มผักผลไม้จำหน่ายได้ราคาต่ำกว่า จะมีทินเพลตเป็นสัดส่วนต้นทุนการผลิตสูงถึง 40%" นายวิศิษฐ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การขอเข้าพบกรมการค้าภายใน เพื่อขอให้ช่วยแก้ไขปัญหากรณีที่ผู้ผลิตกระป๋องจะปรับขึ้นราคาขอให้แจ้งให้ผู้ผลิตอาหารรับทราบด้วย เพื่อปรับตัวได้ทัน เพราะก่อนหน้านี้ผู้ผลิตอาหารมักจะทราบหลังจากที่กระป๋อง มีการปรับขึ้นราคาไปแล้ว ทำให้ปรับตัวไม่ทัน หากราคาทินเพลตยังคงปรับขึ้น ราคาอย่างต่อเนื่อง ผู้ผลิตอาหารที่แบกรับต้นทุนไม่ไหวอาจจำเป็นต้องขอปรับราคาเข้ามายังกระทรวงพาณิชย์เช่นกัน

"ผู้ผลิตหลายรายที่ได้รับผลกระทบ ยังไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ ทั้งกลุ่มสินค้าที่ส่งออกเพราะต้องแข่งขันกับประเทศคู่แข่งอื่นที่ราคาทินเพลตปรับขึ้นสูงไม่เท่าไทย ส่วนผู้ผลิตอาหารกระป๋องภายใน เช่น ปลากระป๋อง ก็ปรับขึ้นราคาไม่ได้ เพราะกระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือไม่ให้ปรับขึ้นราคา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดี ส่วนราคาทินเพลตที่ปรับขึ้นมานั้น ผู้นำเข้าทินเพลตที่นำมาผลิตกระป๋องอ้างว่าต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าราคาสูงขึ้นมาก โดยมีการนำเข้าจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้" นายวิศิษฐ์ กล่าว

สำหรับผู้ผลิตกระป๋องที่ใช้บรรจุอาหารของไทยมีประมาณ 10 กว่าราย โดยผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปจะซื้อกระป๋องสำเร็จรูปจากผู้ผลิตกระป๋องกลุ่มนี้ ที่จะต้องนำเข้าเหล็กม้วนมารีดทำกระป๋อง

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีผู้ผลิตอาหารกระป๋องรายใดขอปรับราคาเข้ามา ซึ่งกรมจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยได้สั่งการให้ตรวจสอบราคาจำหน่ายทุกวัน เพื่อประเมินสถานการณ์ แต่หากผู้ผลิตอาหารกระป๋องมีต้นทุน ที่ปรับตัวสูงขึ้นจริงจนแบกรับภาระไม่ไหว ให้ส่งเรื่องเข้ามายังกรมได้ เพื่อประเมินผลกระทบร่วมกันว่าจะมีการปรับขึ้นราคาหรือไม่

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ในเดือน ส.ค. 2561 กรมการค้าภายในได้นำอาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก และอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ขึ้นมาอยู่ในรายการสินค้าอ่อนไหวเป็นพิเศษ (เอสแอล) โดยจะต้องมีการติดตามราคาสินค้าเป็นประจำทุกวัน ทำให้เดือน ส.ค.มีรายการสินค้าที่อยู่ในบัญชีอ่อนไหวเป็นพิเศษทั้งหมด 27 รายการ เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค.ที่มี 25 รายการ