posttoday

งบโฆษณายุคมีจำกัด ทีวีดิจิทัลดิ้นหารายได้เสริม

24 สิงหาคม 2561

จากจำนวนคู่แข่งในสื่อทีวีมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีสื่ออื่นๆ มาชิงเม็ดเงินโฆษณา ส่งผลให้หลายช่องต้องปรับตัวครั้งใหญ่

โดย...จะเรียม สำรวจ

แม้ว่าโฆษณาในสื่อทีวีจะยังมีสัดส่วนที่มากสุดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณกว่า 55% ของงบโฆษณารวมปีละเป็นแสนล้านบาท แต่จากจำนวนช่องทีวีที่เพิ่มขึ้นมามาก ส่งผลให้เม็ดเงินถูกกระจายไปยังช่องต่างๆ และยิ่งปัจจุบันมีสื่ออื่นๆ โดยเฉพาะโอทีพีเข้ามาแบ่งเม็ดเงินโฆษณา ประกอบกับเจ้าของสินค้ายังคงระมัดระวังการใช้งบโฆษณา ทำให้เม็ดเงินโฆษณาที่มีอยู่จำกัด ยิ่งทำให้สื่อทีวีต้องปรับตัว และหนึ่งในกลยุทธ์ที่สื่อทีวีเลือกใช้คือ การหารายได้เสริมจากธุรกิจนันบรอดคาสต์

ช่องแรกที่มีการปรับตัวอย่างเห็นได้ชัดคือ ช่อง 8 ด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจสุขภาพและความงามภายใต้บริษัท ไลฟ์สตาร์ บริษัทในเครือของบริษัท อาร์เอส เจ้าของสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 เพราะหลังจากดำเนินธุรกิจสุขภาพและความงามมา 4 ปี ธุรกิจของไลฟ์สตาร์มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้บริษัท อาร์เอส จึงหันมาให้ความสำคัญธุรกิจสุขภาพและความงาม เพื่อต่อยอดรายได้ธุรกิจมีเดีย

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส กล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจนับจากนี้บริษัทจะปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจจากเดิมมีรายได้มาจากการขายโฆษณาสู่การเป็นคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม หรือแพลตฟอร์มการค้าผ่านช่อง 8 ภายหลังจากธุรกิจสุขภาพและความงามได้ผลการตอบรับที่ดี และเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ ล่าสุดบริษัทได้นำกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ภายในครัวเรือนเข้ามาเสริมทัพ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท แนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าวจะทำให้บริษัทเปรียบเสมือนเป็นห้างที่มีสินค้าให้เลือกหลากหลาย

ในส่วนของบริษัท อสมท ก็ออกมาประกาศจะรุกธุรกิจนันบรอด คาสต์มากขึ้น โดยปัจจุบัน อสมท มีธุรกิจนันบรอดคาสต์ที่บริหารอยู่ด้วยกัน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มธุรกิจให้เช่าที่ดิน 50 ไร่ 2.กลุ่มธุรกิจไวร์เลสบรอดแบนด์ทีวีบนคลื่นความถี่ย่าน 2.6 GHz 3.กลุ่มธุรกิจค้าปลีกภายใต้ชื่อ เอ็มคอต มาร์ท และ 4.กลุ่มธุรกิจพลังงานภายใต้ชื่อ เอ็ม โซลาร์

เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท กล่าวว่า จากเม็ดเงินโฆษณาในธุรกิจบรอดคาสต์ ที่มีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้แผนการดำเนินธุรกิจนับจากนี้บริษัทจะให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจนันบรอดคาสต์มากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี รายได้หลักของบริษัทจะยังคงมีจากธุรกิจบรอดคาสต์เหมือนเดิม

ด้านช่องเวิร์คพอยท์ก็เดินหน้าหารายได้เสริมจากธุรกิจนันบรอดคาสต์เช่นกัน ด้วยการเดินหน้าขายลิขสิทธิ์รายการโทรทัศน์ให้ต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะยุโรป รัสเซีย อเมริกา และเอเชีย โดยรายการที่ได้รับความนิยมคือ รายการไมค์หมดหนี้ และปริศนาฟ้าแลบ เพราะมีคอนเทนต์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เช่นเดียวกับช่อง 3 ที่เดินหน้า ขายคอนเทนต์ละครไปในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ จับมือกับบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย นำละครที่ออกอากาศไปแล้วตั้งแต่ปี 2556-2560 ไปจำหน่ายในต่างประเทศรวม 70 เรื่อง

ประชุม มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีอีซี เวิลด์ ผู้บริหาร ช่อง 3 เอชดี ช่อง 3 เอสดี และช่อง 3 แฟมิลี่ กล่าวว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นการนำความแข็งแกร่งที่ทั้ง 2 บริษัทมีมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดรายได้ ทำให้ละครไทยโกอินเตอร์ และขยายฐานผู้ชมต่างประเทศ

จากแนวทางการดำเนินธุรกิจ ดังกล่าวของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล น่าจะช่วยให้แต่ละช่องมีรายได้มาลด การขาดทุนและเพิ่มผลกำไรได้น่าพอใจ