posttoday

ระบบโลจิสติกส์ ถ่วงอี-คอมเมิร์ซไทย

23 สิงหาคม 2561

ยุทธศาสตร์อี-คอมเมิร์ซแห่งชาติ อาจจะไม่เกิด หากไม่สามารถพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้ต้นทุนต่ำลงกว่าปัจจุบัน

โดย..วารุณี อินวันนา

ยุทธศาสตร์อี-คอมเมิร์ซแห่งชาติ ที่ต้องการสร้างผู้ประกอบการให้เพิ่มเป็น 1 แสนราย และเพิ่มมูลค่าการค้าออนไลน์ของไทยเป็นสองเท่าตัว ภายในปี 2564 อาจจะไม่เกิด หากไม่สามารถพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้ต้นทุนต่ำลงกว่าปัจจุบัน

อารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสำนักตลาดพาณิชย์ดิจิทัล กล่าวในหัวข้อ “การค้ายุคใหม่ผ่านโลกอี-คอมเมิร์ซ” ว่า ปัญหาใหญ่ของการค้าขายอี-คอมเมิร์ซภายในประเทศไทยคือ ระบบโลจิสติกส์ หรือการขนส่งสินค้าไปยังผู้รับ โดยปัจจุบันต้นทุนการส่งของยังสูง ทำให้ผู้ค้าขายรายเล็กไม่สามารถส่งของไปทั่วประเทศได้ และผู้ซื้อไม่สามารถติดตามสินค้าระหว่างทาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ต้องการทราบ และยังไม่สามารถส่งสินค้าไปถึงมือผู้รับในทอดเดียว

“วันนี้หากต้องการต้นทุนการส่งของไปต่างจังหวัดให้ต่ำลง ต้องรอไปรวมกับของคนอื่นๆ เมื่อผู้ขนส่งรอสินค้าจนเต็มคันรถแล้วถึงได้ออกเดินทาง และนำไปพักไว้ที่จุดใดจุดหนึ่ง แล้วค่อยกระจายต่อไปอีกทีเป็นการส่งของรูปแบบเดิมๆ” อารดา ชี้ให้เห็นปัญหา

ทั้งนี้ เพราะผู้สั่งซื้อออนไลน์จะซื้อสินค้าครั้งละชิ้นไม่ได้สั่งซื้อสินค้าครั้งละ 1 คันรถ และต้องการติดตามการเดินทางของสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งไทยต้องหาทางพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้เอื้อต่อการค้าอี-คอมเมิร์ซไม่งั้นประเทศไทยจะแย่ และอี-คอมเมิร์ซก็จะไม่เกิด ขณะที่ระบบการชำระเงินของไทยดีมาก ถือเป็นหนึ่งในอีโคซิสเต็มส์ที่มีการพัฒนาดีที่สุด

สำหรับการค้าระหว่างประเทศผ่านเว็บไซต์ไทยเทรดดอทคอม ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้ผู้ส่งออกขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) มาใช้บริการค้าขายออนไลน์ฟรี เพราะรัฐบาลไทยทำเอง คาดว่าปี 2561 จะมียอดขายสะสมถึง 5,300 ล้านบาท โดย 6 เดือนแรกมียอดขายสะสมแล้ว 5,100 ล้านบาท จากผู้ส่งออก 2.5 หมื่นราย ซึ่งเป็นการเก็บสถิติจากผู้ประกอบการส่งออกส่งหลักฐานการซื้อ/ขายจริง แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ยอมส่งหลักฐานการซื้อขายให้ เพราะกลัวว่าจะถูกตามไปเก็บภาษี

“ช่วงแรกๆ ที่ทำเมื่อ 7-8 ปีก่อนยอดขายต่อปีอยู่ 200-300 ล้านบาท แต่นับจากปี 2558 เป็นต้นมายอดขายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 800 ล้านบาท เพราะผู้ซื้อเริ่มรู้จักเรามากขึ้น” อารดา กล่าว

ปัจจุบันไทยเทรดดอทคอมเชื่อมกับอี-มาร์เก็ตเพลสของอาลีบาบา และจากเกาหลีอีก 1 แห่ง ต่อไปจะเชื่อมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ซึ่งจะทำให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

นอกจากนี้ จะเดินหน้าสร้างเอสเอ็มอีใหม่ๆ ที่ไม่เคยส่งออก ด้วยการให้คำแนะนำด้านต่างๆ ทั้งทำบรรจุภัณฑ์และอัพโหลดรูปขึ้นออนไลน์ เพื่อให้สามารถทำอี-คอมเมิร์ซได้ ควบคู่กับการเดินหน้าชักชวนเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพให้เข้าสู่ระบบออนไลน์

สำหรับปี 2561 สำนักตลาดพาณิชย์ดิจิทัลได้เปิดไทยเทรดช็อปเป็นเกตเวย์ เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ไม่ได้เปิดมาเพื่อขายแข่งกับคนขายในประเทศ แต่เพื่อให้รวบรวมรายชื่อสินค้าของไทยให้คนสามารถค้นหาได้ง่ายขึ้น โดยจะทำเป็นเหมือนกูเกิลให้เป็นระบบที่สามารถค้นหาสินค้าไทยจากทุกแพลตฟอร์ม ส่งเสริมให้ผู้ค้าออนไลน์ในไทยค้าขายสะดวกขึ้นเริ่มจากสินค้า เกษตร และอาหาร ที่จะไปเจาะตลาดจีน

แผนต่อไปคือจะทำบิ๊กดาต้าอี-คอมเมิร์ซ โดยนำข้อมูลจากเว็บไซต์ไทยเทรดดอทคอมมาผนึกกำลังกับเซลฟอสส์ที่เป็นระบบปฏิบัติการการจัดการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ หรือซีอาร์เอ็ม ที่มีการเก็บข้อมูลการติดต่อของลูกค้าจากทุกช่องทางผ่านแชต โทรศัพท์ อีเมล จะนำไปผนึกกับทรานแซ็กชั่นในการซื้อขาย และไปรวมกับข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์จากโครงการธงฟ้าประชารัฐ โชห่วยไฮบริด หนูณิชย์พาชิม รวมถึงข้อมูลการซื้อขายผ่านบัตรสวัสดิการ
ผู้มีรายได้น้อย

ทั้งหมดนี้ เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาค้นหาความต้องการสินค้าของตลาดนำมาคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อวางแผนต่างๆ ให้ตรงกับตลาด

“สิ่งที่เราทำสร้างประโยชน์ให้กับคนภายนอกได้คือ ประชาชนคนไทย นักธุรกิจไทย มีข้อมูลในการนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างโอกาสทางธุรกิจ ส่วนประโยชน์ภายในคือ รัฐจะได้รู้ว่าควรจะพัฒนาอุตสาหกรรมอะไรให้ดีให้ตอบโจทย์ผู้บริหารจะได้รู้ว่าจะกำหนดนโยบายอย่างไรให้ได้ผล ให้ดีขึ้น ถ้าไม่มีข้อมูล ไม่มีการวิเคราะห์ ก็ทำไม่ได้” อารดา กล่าว

อารดา สรุปว่า การทำงานของไทยเทรดดอทคอม และการจะทำบิ๊กดาต้าไม่ควรมองที่การเพิ่มของยอดขายเพียงอย่างเดียว เพราะยอดขายที่เกิดขึ้นเป็นแค่ส่วนเล็ก หรืออาจจะประมาณ 10% ของสิ่งที่ประเทศจะได้รับนั่นคือ ข้อมูลดีมานด์ความต้องการซื้อที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ถึง 90% ในการนำไปพัฒนาประเทศต่อไป