posttoday

แรงงานขาดทักษะพุ่ง แนะเร่งปฏิรูปการศึกษา

22 สิงหาคม 2561

แม้ขณะนี้สถานการณ์การจ้างงานทั่วโลกจะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่กลับมีปัญหาที่ตามมา คือ การขาดแคลนแรงงานผู้ที่มีความสามารถ จึงถือเป็นอีกปัญหาใหญ่ในหลายประเทศ

โดย...ภูวดล โกมลรัตนเสถียร

ปัจจุบันภาคแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญ  ที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ และส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้ขณะนี้สถานการณ์การจ้างงานทั่วโลกจะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่กลับมีปัญหาที่ตามมา คือ การขาดแคลนแรงงานผู้ที่มีความสามารถ จึงถือเป็นอีกปัญหาใหญ่ในหลายประเทศ

โจนาส ไพรซิง ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท แมนพาวเวอร์กรุ๊ป เปิดเผยว่า ในปี 2561 ตัวเลขการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะความสามารถเพิ่มสูงขึ้นถึง 45% หรือสูงที่สุดในรอบ 12 ปี โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น โรมาเนีย ไต้หวัน และฮ่องกง ที่ประสบปัญหาการขาดแรงงานมากที่สุด จากการเข้าสู่ประชากรผู้สูงอายุ และการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี

เช่นเดียวกับประเทศไทยที่กำลังพัฒนาและอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ทำให้ตกอยู่ในภาวะความต้องการแรงงานที่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับการขาดแคลนแรงงานระดับโลก โดยเฉพาะ 6 สายงานสำคัญ ได้แก่ สายงานขาย ซึ่งมีความต้องการขึ้นเป็นอันดับ 1 ติดต่อกัน 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2558-2560 ทั้งในระดับ บีทูบี บีทูซี และรูปแบบคอลเซ็นเตอร์ แต่ก็มีอัตราการหมุนเวียนเข้าออกสูง

สำหรับอีกสายงานที่มีความต้องการสูงและมาแรงในช่วง 5 ปีนี้ คือ สายงาน ไอที ที่มีความต้องการเพิ่มสูงต่อเนื่อง ปีละ 20% จากเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจและการทำงานในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะสายงานด้านระบบเอไอ ฟินเทค ดิจิทัลเพย์เมนต์ ไอโอที คลาวด์คอมพิวติ้ง บิ๊กดาต้า เออาร์ และไซเบอร์ซีเคียวริตี้

สายงานที่สาม คือ งานวิศวกร ซึ่งการสรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสมตามคุณสมบัติที่ตลาดต้องการนับเป็นเรื่องที่ยากและขาดแคลน จากความต้องการทักษะเชิงลึกและรอบด้าน ถัดมาคือ สายงานในกลุ่มบัญชีและ การเงิน งานธุรการ งานฝ่ายผลิตและฝ่ายเทคนิค

ไพรซิง กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่มีทักษะ ประกอบด้วยกัน 4 แนวทาง ได้แก่ 1.สร้าง ด้วยการลงทุนและพัฒนาเพื่อสร้างผู้มีความสามารถขององค์กร 2.ซื้อ ด้วยการจูงใจคนทำงาน อาจ ต้องจ่ายค่าตอบแทน ค่าจ้างในระดับสูง 3.ยืม คนเก่งนอกองค์กรที่ทำงานนอกเวลา หรือทำงานอิสระ เพื่อเติมช่องว่าง และ 4.เป็นสะพาน ช่วยให้ก้าวสู่บทบาทใหม่ทั้งภายในและภายนอกองค์กร

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติมองไทยเป็นจุดหมายของการลงทุนที่สำคัญ ดังนั้นสิ่งแรกเพื่อยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางภาคอุตสาหกรรม ไทยจำเป็นต้องปฏิรูประบบการศึกษา เพื่อผลิตบุคลากรที่มีทักษะเป็นที่ต้องการของตลาด และภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการต้องลงทุน ฝึกอบรมพัฒนา ทักษะด้านไอที เทคโนโลยี ให้ทันการเปลี่ยนแปลง

สุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์ กรุ๊ป ประเทศไทย ระบุว่า นับจากนี้ 5 ปี การเปลี่ยนแปลงของระบบหุ่นยนต์และเอไอจะมีบทบาทชัดเจนขึ้น อาจส่งผล ต่อแรงงานกึ่งฝีมือ แต่สิ่งที่จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ไม่ได้ คือ ทักษะด้านสังคม การสื่อสาร การเขียน การพูด และการแก้ปัญหา ดังนั้นแรงงานไทยจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาฝีมือ เพื่อก้าวสู่การเป็นแรงงานที่เหมาะสม (Right Person)