posttoday

ขายอาหารออนไลน์บูม อีก 2 ปีแตะแสนล้าน

21 สิงหาคม 2561

จากความนิยมสั่งซื้ออาหารในช่องทางออนไลน์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันมีการจำหน่ายอาหารผ่านช่องทางออนไลน์มีมูลค่าสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท คาดว่าอีก 2 ปี น่าจะมีมูลค่าสูงถึงปีละ 1 แสนล้านบาท

โดย...จะเรียม สำรวจ

แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค จะยังฟื้นตัวแบบเปราะบาง แต่ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในปีนี้กลับมีการเติบโตเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากปัจจุบันมีช่องทางออนไลน์ คอยอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค เมื่ออยากรับประทานอาหารจากร้านดังได้ทั่วกรุงเทพฯ

จากความนิยมสั่งซื้ออาหารในช่องทางออนไลน์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันมีการจำหน่ายอาหารผ่านช่องทางออนไลน์มีมูลค่าสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจากเม็ดเงินที่มีมูลค่ามหาศาลดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการทั้งหน้าใหม่หน้าเก่า เล็งเห็นโอกาสโดดเข้ามาชิงเม็ดเงินดังกล่าว

ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้การขายอาหารผ่านช่องทางออนไลน์ในแต่ละปีมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ปัจจัยหลักน่าจะมาจากผู้บริโภคชอบความสะดวกสบาย เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีปัญหาการจราจรติดขัด จึงทำให้การเดินทางไม่สะดวก

ดังนั้น ผู้บริโภคจึงหันไปสั่งซื้ออาหารในช่องทางออนไลน์มากขึ้น จากความนิยมดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการขายอาหารในช่องทางออนไลน์ที่ไม่มีหน้าร้านบางราย มีรายได้สูงถึง ปีละ 500 ล้านบาท และบางรายมี รายได้ต่อปีหลักร้อยล้านบาท

ฐนิวรรณ กล่าวต่อไปว่า จากจำนวนผู้เล่นในธุรกิจขายอาหารออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นมากตามจำนวนความต้องการของ ผู้บริโภค คาดว่าในอีก 2 ปีนับจากนี้ มูลค่าการขายอาหารผ่านช่องทางออนไลน์ น่าจะมีมูลค่าสูงถึงปีละ 1 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี แม้ว่าธุรกิจขายอาหารในช่องทางออนไลน์จะมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับการทำธุรกิจร้านอาหารในช่องทางออฟไลน์หรือขายผ่านหน้าร้าน ซึ่งปัจจุบันมียอดขายลดลงเฉลี่ยที่ประมาณ 20-40% โดยเฉพาะร้านอาหารขนาดใหญ่ เนื่องจาก ผู้บริโภคหันมาระวังการจับจ่ายใช้สอยและส่วนหนึ่งก็หันไปซื้ออาหารในช่องทางออนไลน์ แต่ธุรกิจร้านอาหารในช่องทางออฟไลน์ก็ยังมีจุดแข็งที่ออนไลน์ไม่มี สิ่งนั้นคือรสชาติอาหารที่อร่อย เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ เปิดให้บริการมานานหลายสิบปี จึงทำให้มีประสบการณ์ในด้านของอาหาร

ปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการที่จำหน่ายอาหารออนไลน์ส่วนหนึ่ง ต้องหันมาปรับกลยุทธ์ เพื่อสร้างความแตกต่างจากช่องทางออฟไลน์ เช่น การขายอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

สำหรับร้านอาหารที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ปีนี้ ยังคงเป็นกลุ่มชาบู ตามด้วยปิ้งย่าง อาหารอีสาน และอาหารเส้น เนื่องจากเป็นอาหารที่สามารถ รับประทานได้ง่าย และมีจำหน่ายอยู่เป็นจำนวนมาก

ฐนิวรรณ กล่าวว่า แม้ปีนี้ธุรกิจร้านอาหารจะได้รับผลกระทบในด้านของกำลังซื้อผู้บริโภคที่ชะลอตัวไปบ้าง แต่ก็มั่นใจว่าภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในสิ้นปี 2561 นี้ น่าจะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% จากปี 2560 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วน 20% ของมูลค่าเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท ในมูลค่าดังกล่าวแบ่งเป็นธุรกิจร้านอาหารประเภทสตรีทฟู้ด 2 แสนล้านบาท และร้านอาหารในรูปแบบภัตตาคาร 5 แสนล้านบาท