posttoday

คมนาคมเปิดประมูลรถไฟไฮสปีดไทย-จีนส่งท้ายปี61

15 สิงหาคม 2561

คมนาคมเปิดประมูลงานรถไฟไฮสปีด 1 แสนล้านบาทส่งท้ายปี 61 คิ๊กอ๊อพก่อนเดือนหน้า 1.5 หมื่นล้านบาท ด้านปมสัญญา 2.3 ยังไม่จบ

คมนาคมเปิดประมูลงานรถไฟไฮสปีด 1 แสนล้านบาทส่งท้ายปี 61 คิ๊กอ๊อพก่อนเดือนหน้า 1.5 หมื่นล้านบาท ด้านปมสัญญา 2.3 ยังไม่จบ

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)เปิดเผยว่าความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วเฟส 1 กรุงเทพ-นครราชสีมา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ภายหลังจากการประชุมร่วมไทย-จีนครั้งที่ 25 โดยประเด็นหลักที่มีการหารือในครั้งนี้คือสัญญาที่ 2.3 งานระบบ จัดหาไฟฟ้า และฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้ตีกลับข้อสรุปถอดแบบประมาณราคาค่าใช้จ่ายของโครงการ (BOQ) โดยให้จีนไปใส่รายละเอียดเพิ่มขึ้นพร้อมส่งกลับมาให้ฝ่ายไทยอีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์

ทั้งนี้ยืนยันว่ากรอบเวลายังคงเป็นไปตามแผนเดิมคือลงนามสัญญากับฝ่ายจีนภายในปีนี้ อย่างไรก็ตามขณะนี้รฟท.อยู่ระหว่างร่างเงื่อนไขเพื่อเปิดประกวดราคาจัดจ้างที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาพร้อมออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างเฟส 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย คาดว่าจะได้ตัวที่ปรึกษาภายในปีนี้และเริ่มงานได้ในปี 2562 โดยมีฝ่ายจีนเป็นที่ปรึกษา

ด้านแหล่งข่าวกระทรวงคมนาคมเปิดกล่าวว่าขณะนี้ฝ่ายจีนได้ดำเนินการส่งรายละเอียดออกแบบและก่อสร้างทั้งหมด 14 ตอนมาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างทยอยตรวจสอบและส่งกลับไปให้จัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมในบางตอนที่แบบยังไม่ชัดเจน อาทิ วัสดุก่อสร้าง แบบก่อสร้างและสัดส่วนปริมาณงานเป็นต้น ดังนั้นจึงมั่นใจว่าภายในเดือนก.ย.นี้จะสามารถเปิดประมูลงานโยธาได้ 2 สัญญา วงเงินรวม 1.5 หมื่นล้านบาท

เริ่มจากสัญญาก่อสร้าง ตอนที่ 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. วงเงิน 5 พันล้านบาท ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ถอดแบบราคาและร่างเอกสารประกวดราคา(TOR) ใกล้เสร็จแล้วจะสามารถเปิดประมูล E-bidding ได้ในช่วงกลางเดือนหน้า ส่วนสัญญาก่อสร้างตอนที่ 3 ช่วงสถานีจันทึก-สถานีคลองไผ่ วงเงินราว 1 หมื่นล้านบาทนั้นขณะนี้ฝ่ายจีนอยู่นะหว่างทำข้อมูลเพิ่มเติมจะเสนอกลับเร็วๆนี้เพื่อนำมาถอดแบบและเปิดประมูลช่วงปลายเดือนหน้า อย่างไรก็ตามกระทรวงคมนาคมยังยึดแผนเดิมคือประกวดราคาทุกสัญญาภายในปีนี้ ส่งผลให้ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะมีการเปิดประมูลงานก่อสร้างอีก 11 สัญญา วงเงินมากกว่า 1 แสนล้านบาท

แหล่งข่าวกระทรวงคมนาคมกล่าวต่อว่าด้านสัญญาที่ 2.3 ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในการประชุมครั้งล่าสุดโดยเฉพาะรายละเอียดด้านการจัดซื้อตัวรถและระบบเทคโนโลยีที่ฝ่ายจีนได้ส่งข้อสรุปการถอดแบบมานั้นพบว่าเป็นการสรุปตัวเลขที่กว้างมาก อาทิ งานวางระบบรถไฟฟ้าและจัดซื้อขบวนรถนั้นมีเพียงตัวเลขภาพรวมก้อนใหญ่ว่ามูลค่าเท่าไหร่ ทว่าไม่มีการแจกแจงรายละเอียดตัวเลขดังกล่าวว่ามาจากค่าอะไรบ้าง ดังนั้นจึงขัดกับหลักกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างของไทยที่ต้องแจกแจงว่าค่าใช้จ่ายมาจากไหนบ้างเพื่อความโปร่งใสและเอื้อต่อการเปรียบเทียบราคากลางจากทั่วโลกว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ ดังนั้นที่ประชุมจึงได้มีข้อสรุปให้ฝ่ายจีนกลับไปจัดทำตัวเลขมาเสนออีกครั้งหนึ่ง

ส่วนด้านการพัฒนาบุคลากรนั้นยังยืนยันว่าต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบไฮสปีดพร้อมหลักสูตรการผลิตบุคลากรไทยให้สามารถบริหารโครงการได้ในระยะยาว โดยแผนพัฒนาดังกล่าวนั้นยังต้องรอความชัดเจนหน่วยงานกลางที่จะมารับผิดชอบอย่างสถาบันพัฒนาวิจัยเทคโนโลยีระบบราง ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีแผนจะจัดตั้งให้ได้ภายในปีนี้ สอดคล้องกับเงื่อนไขทางกฎหมายของร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ….ซึ่งจะมีการประกาศใช้ได้ในช่วงปลายปีนี้