posttoday

ศก.โตดันยอดใช้น้ำมันพุ่ง 6เดือนแรกขยายตัว3.84%

15 สิงหาคม 2561

ธพ.แจงตัวเลขใช้น้ำมันเชื้อเพลิงครึ่งปีแรกเติบโตเฉลี่ยวัน 156. 6 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นทุกประเภทสะท้อนเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง

ธพ.แจงตัวเลขใช้น้ำมันเชื้อเพลิงครึ่งปีแรกเติบโตเฉลี่ยวัน 156. 6 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นทุกประเภทสะท้อนเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง

รายงานข่าวจากกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.-มิ.ย.) มีความต้องการใช้น้ำมัน 2.83 หมื่นล้านลิตร เฉลี่ยวันละ 156.6 ล้านลิตร หรือ 9.85 แสนบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.8 ล้านลิตร/วัน คิดเป็น 3.84% ขณะที่การนำเข้าน้ำมันดิบรวมอยู่ที่ 27,455 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 8.5% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 389,074 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.4% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิง ทุกประเภทสะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจที่มีการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะจาก ภาคการส่งออก การบริการ และการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ กลุ่มเบนซินมีปริมาณการใช้หรือการจำหน่ายอยู่ที่ 5,619.8 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 3.37% แบ่งเป็นแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 1,849.07 ล้านลิตร ลดลง 5.52% แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 2,313.76 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 9.66% แก๊สโซฮอล์ อี20 อยู่ที่ 1,019.42 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 10.49% และแก๊สโซฮอล์ อี85 อยู่ที่ 206.2 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 10.61% ขณะที่การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วอยู่ที่ 1.20 หมื่นล้านลิตร เพิ่มขึ้น 2.03%

การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ยังคงลดลงต่อเนื่อง ขณะที่แก๊สโซฮอล์ 95 กลับเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐส่งเสริมให้ผู้ค้าใช้กลไก ส่วนต่างราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ถูกกว่า แก๊สโซฮอล์ 95 เพียงลิตรละ 27  สตางค์ เพื่อปูทางการยกเลิกจำหน่ายแก๊ส โซฮอล์ 91 ในอนาคต

นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง กล่าวว่า ขณะนี้การใช้เอทานอลเฉลี่ยอยู่ที่ 4.2 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 1-2 แสนลิตร/วัน เทียบกับช่วงปลายปี 2560 ซึ่งเป็นการเติบโตตามการใช้น้ำมัน แต่การใช้ยังคงต่ำกว่ากำลังการผลิตที่มีอยู่ถึง 6.5 ล้านลิตร/วัน โดยภาพรวมการใช้เอทานอลในระยะสั้นคงไม่เติบโตมากนัก แต่ระยะกลางและระยะยาว 10-15 ปีข้างหน้าการใช้คาดว่าอยู่ระดับไม่ต่ำกว่า 7-8 ล้านลิตร/วัน

ปัจจุบันการผลิตเอทานอลจากโรงงานมันสำปะหลังที่มีอยู่ 9 แห่ง ได้หยุดเดินเครื่องกำลังการผลิตลงเหลือเพียง 2-3 แห่งเท่านั้น เนื่องจากปริมาณมันสำปะหลังฤดูการผลิตปี 2560/2561 ได้ปรับลดลงส่งผลให้ราคามันเส้นขยับมาอยู่ที่ 7-7.30 บาท/กิโลกรัม (กก.) มันสดอยู่ที่ 2.80-3 บาท/กก. เมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตของโรงงานที่ใช้กากน้ำตาล (โมลาส) เป็นวัตถุดิบที่ปีนี้ราคาต่ำจึงไม่สามารถแข่งขันได้ แต่ภาพรวมยังไม่มีผลกระทบต่อปริมาณ เอทานอลโดยรวม