posttoday

ศูนย์เฉพาะกิจฯระบุน้ำเข้าเมืองเพชรฯต่ำกว่าตลิ่ง50ซม.เฝ้าระวัง7จว.

11 สิงหาคม 2561

ศูนย์เฉพาะกิจฯระดับน้ำเข้าเมืองเพชรบุรี ต่ำกว่าตลิ่ง50 ซม. เฝ้าระวังพายุดีเปรสชั่นเข้าเวียดนามอาจมีผลให้อีสานฝนเพิ่ม 13-16 ส.ค. มี7 จว. เฝ้าระวังพิเศษ

ศูนย์เฉพาะกิจฯระดับน้ำเข้าเมืองเพชรบุรี ต่ำกว่าตลิ่ง50 ซม.  เฝ้าระวังพายุดีเปรสชั่นเข้าเวียดนามอาจมีผลให้อีสานฝนเพิ่ม 13-16 ส.ค. มี7 จว. เฝ้าระวังพิเศษ

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) สรุปสถานการณ์น้ำว่าเข้าสู่อิทธิพลพายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน คาดว่าจะเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 13-14 ส.ค.2561 ประกอบมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง ส่งผลวันที่ 13-16 ส.ค. 61 ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยลุ่มน้ำเพชรบุรี มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนแก่งกระจาน และไหลผ่านทางระบายน้ำล้น (Spillway) ลดลง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี มีแนวโน้มลดลงตามการระบายน้ำจากเขื่อน แต่ยังคงมีระดับสูง ในส่วนแม่น้ำสายสำคัญ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีระดับน้ำน้อย ภาคกลางและใต้มีระดับปานกลางถึงน้ำมาก
สถานการณ์แม่น้ำระหว่างประเทศ เช่น แม่น้ำโขง ระดับน้ำลดลงปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง สถานการณ์ฝนมากขึ้นใน31 จังหวัด ภาคเหนือ : จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง : จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี และนครสวรรค์

ภาคตะวันออก : จังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดระนอง และพังงา ซึ่งคาดว่าปริมาณฝนสะสม 7 วัน ที่เกิน 150 มม. มีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่งและดินโคลนถล่มเป็นพิเศษ 7 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สกลนคร มุกดาหาร ภาคตะวันออก ปราจีนบุรี ตราด ภาคใต้ ระนอง พังงา สุราษฎร์ธานี

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มีจำนวน 4 แห่ง ดังนี้

 1. เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ (06.00 น.) ปริมาณน้ำ 731 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 103% ปริมาณน้ำไหลเข้า 12.92 ล้าน ลบ.ม./วัน กรมชลประทานได้ติดตั้งกาลักน้ำ จำนวน 15 ชุด เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำออกจากอ่างฯ ปริมาณน้ำระบายออกรวม 182.88          ลบ.ม./วินาที น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 49 ซม. (เมื่อวาน 54 ซม.) แนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างลดลง และจากการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ อาจมีฝนตกมากขึ้นส่งผลให้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อไป

สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ยังอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ระดับน้ำท้ายเขื่อน ที่สถานี B.3A อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี (04.00 น.) ระดับน้ำ 3.44 ม. (เมื่อวาน 3.52 ม.) ระดับตลิ่ง 4.40 ม. ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.96 ม. ปริมาณน้ำไหลผ่าน 162.80 ลบ.ม./วินาที (เมื่อวาน 170.40 ลบ.ม./วินาที) ทำให้พื้นที่ริมสองฝั่งลำน้ำในบริเวณอำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง และอำเภอบ้านแหลม ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมมีแนวโน้มทรงตัว

การบริหารจัดการน้ำ มีการพร่องน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีล่วงหน้า และตัดยอดน้ำผ่านระบบชลประทาน รวมถึงการพร่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำโดยกาลักน้ำ/เครื่องสูบน้ำ ทำให้ระดับน้ำที่อำเภอเมืองเพชรบุรี (สถานี B.15) มีระดับลดลง ต่ำกว่าตลิ่ง 0.50 ม. (เมื่อวาน 0.69 ม.) แต่ยังต้องเฝ้าระวัง


2. เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำ 535 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 103 % ปริมาณน้ำไหลเข้า 6.09 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 5.23 ล้าน ลบ.ม.

สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ยังคงปกติ คาดว่าจะไม่มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่มีน้ำล้นตลิ่ง

การบริหารจัดการน้ำ ติดตั้งช่องทางพิเศษกาลักน้ำ 22 ชุด เพื่อช่วยเร่งระบายได้

การแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งและให้ติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดสกลนคร บึงกาฬ นครพนม ซึ่งลำน้ำอูนและลำน้ำสงคราม ไหลผ่าน

3. เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 7,548 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 85% ปริมาณน้ำไหลเข้า 52.96 ล้าน ลบ.ม. (แนวโน้มลดลง) มีปริมาณน้ำไหลออก 41.53 ล้าน ลบ.ม.

สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ จากการติดตามสภาพน้ำด้านท้ายน้ำไม่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ

การบริหารจัดการน้ำ แผนการระบายน้ำอยู่ที่วันละ 43 ล้าน ลบ. ม. ตลอดเดือนสิงหาคมและกันยายน 2561

การแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ

4. เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 317 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 81% ปริมาณน้ำไหลเข้า 6.77 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 9.48 ล้าน ลบ.ม.

สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ระดับน้ำในแม่น้ำปราณบุรีจะมีระดับค่อยๆสูงขึ้น ทั้งนี้ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำจากอัตราการระบายที่เพิ่มขึ้น

การบริหารจัดการน้ำ มีการเพิ่มการระบายน้ำขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างที่ต้องเฝ้าระวังมีความจุเกิน 100% ขนาดใหญ่ 2 แห่ง เขื่อนน้ำอูน (103%) เขื่อนแก่งกระจาน(103%) ขนาดกลาง 17 แห่ง (เพิ่มขึ้น 1 แห่ง) ซึ่งอยู่ใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 แห่ง (เพิ่มขึ้น 1 แห่ง) และภาคตะวันออก 3 แห่ง  (เท่าเดิม)

อ่างเฝ้าระวัง (80-100%) ขนาดใหญ่ 4 แห่ง เขื่อนศรีนครินทร์ (87%) เขื่อนวชิราลงกรณ (85%) เขื่อนรัชชประภา (84%) เขื่อนปราณบุรี (81%) ขนาดกลาง 58 แห่ง ( ลดลง 3 แห่ง ) แยกเป็น ภาคเหนือ 4 แห่ง (ลดลง 1 แห่ง) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 44 แห่ง (เพิ่มขึ้น 1 แห่ง) ภาคตะวันออก 5 แห่ง (ลดลง 2 แห่ง ) ภาคกลาง 1 แห่ง (ลดลง 1 แห่ง) และภาคใต้ 4 แห่ง (เท่าเดิม)

มีพื้นที่เฝ้าระวังจากการเร่งระบายน้ำ : อ่างฯขนาดใหญ่ที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม 8 แห่งและอ่างฯที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนปราณบุรี และเขื่อนน้ำอูน รวมถึงอ่างขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีปริมาณน้ำ 100%