posttoday

ราคาที่อีอีซีพุ่ง50% เอกชนคาดปี'65 เพิ่มอีกเท่าตัว

10 สิงหาคม 2561

นายกฯประชุมบอร์ดกพอ.เคาะแผนใช้พื้นที่วันนี้ ที่ดินอีอีซีราคาทะยานไม่หยุด บิ๊กอสังหาฯ ส่วนกลางเดินหน้าลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านแข่งทุนนอก

นายกฯประชุมบอร์ดกพอ.เคาะแผนใช้พื้นที่วันนี้ ที่ดินอีอีซีราคาทะยานไม่หยุด บิ๊กอสังหาฯ ส่วนกลางเดินหน้าลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านแข่งทุนนอก

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้จัดการอาวุโส แผนกวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า ราคาที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ขยับขึ้นแรง หลังจากที่รัฐบาลประกาศแผนการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ราคาพุ่งไม่ต่ำกว่า 50% และประเมินว่าราคาที่จะขยับขึ้นเกินกว่า 100% หรือกว่าเท่าตัวในปี 2565 หลังโครงการอีอีซีชัดเจนเต็มรูปแบบ

"ปัจจุบันนักลงทุนรอความชัดเจน เช่น เรื่องการประกาศผังเมือง ที่คาด จะประกาศชัดกลางปี 2562 จะกำหนดให้พื้นที่บริเวณใดพัฒนาโครงการรูปแบบใดได้บ้าง แต่ที่แน่ๆ เห็นผู้ประกอบการ อสังหาฯ จากส่วนกลางซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้า มาลงทุนสร้างที่อยู่อาศัยในบริเวณ ดังกล่าวแล้ว 1.4 หมื่นยูนิต คิดเป็น มูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท" นายภัทรชัย กล่าว

ขณะที่กลุ่มทุนต่างประเทศ นอกจาก 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาล ส่งเสริมแล้ว กลุ่มทุนจีนด้านอสังหา ริมทรัพย์ จะลงทุนที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ใน จ.ฉะเชิงเทรา ขนาดพันไร่ หากผังเมืองรวมชัดเจน ทางจีนจะลงทุนเองและ หาลูกค้าเข้ามาซื้อ คาดปี 2565 จะมีการจ้างแรงงาน 6 แสนอัตรารวมครอบครัวจะมีถึงกว่า 1.5 ล้านคน

ทั้งนี้ ตัวเลขการขอรับส่งเสริม การลงทุนในพื้นที่อีอีซี ครึ่งปีแรก 2561 มี 142 โครงการ มูลค่าลงทุน 1.8 แสนล้านบาท หรือ 67% ของการขอรับส่งเสริม และเพิ่ม 122% เทียบช่วงเดียวกันปี 2560 แบ่งเป็น จ.ฉะเชิงเทรา 19 โครงการ ชลบุรี 74 โครงการ และระยอง 49 โครงการ

ด้าน นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า วันที่ 10 ส.ค.จะมี การประชุมคณะกรรมการนโยบายอีอีซี (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยสำนักงานอีอีซีจะเสนอแผนภาพรวมการใช้พื้นที่ ทั้งแผนด้านสาธารณสุข การศึกษา และคมนาคมให้พิจารณา ภายใต้กรอบเวลาตามกฎหมายที่ต้องพิจารณาให้เสร็จชัดเจนภายใน 1 ปี โดยขณะนี้ยังได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) หารือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันยกร่างแผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ 12