posttoday

คมนาคมห่วงคนขี่จักรยานยนต์40%ไม่มีใบขับขี่โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน

08 สิงหาคม 2561

รมว.คมนาคมเผยคนขี่จักรยานยนต์ 40% ไม่มีใบขับขี่ ห่วงกลุ่มนักเรียนขาซิ่ง พร้อมสั่งคมนาคมส่งเสริมสวมหมวกก่อนขี่

รมว.คมนาคมเผยคนขี่จักรยานยนต์ 40% ไม่มีใบขับขี่ ห่วงกลุ่มนักเรียนขาซิ่ง พร้อมสั่งคมนาคมส่งเสริมสวมหมวกก่อนขี่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่าจากสถิติพบว่าการเสียชีวิต 70% มาจากรถจักรยานยนต์ ปัจจุบันมียอดจดทะเบียนทั่วประเทศมีประมาณ 21 ล้านคัน ทว่ามีผู้ได้รับใบขับขี่เพียง 13 ล้านใบทั่วประเทศ หรือเป็นเพียง 60% ของจักรยานยนต์ทั้งหมด หรือคนอีก 7-8 ล้านคนยังไม่มีใบขับขี่คิดเป็น 40% ของจักรยานยนต์ทั้งหมด โดยเฉพาะตัวเลขการขับขี่ของเยาวชนที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ปัจจุบันนักเรียนเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ไปโรงเรียนจำนวนมาก เพราะ หาซื้อได้ง่าย ผู้ปกครองซื้อให้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกหลานเดินทางไปโรงเรียน ทำให้นักเรียนอายุ 11-14 ปีขับขี่จักรยานยนต์ไปโรงเรียนระยะทาง 1-2 กม. ส่วนนักเรียนอายุมากกว่า 15 ปี ไม่มีความรู้ต้องทำใบขับขี่คิดว่าอายุครบ 18 ปีถึงทำใบขับขี่รถจักรยานยนต์ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและต้องหาทางแก้ไข

นายอาคมกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมจะเร่งประสานงานให้ไปยังสำนักงานขนส่งทุกจังหวัดทั่วประเทศจัดอบรมให้ความรู้เรื่องใบขับขี่กับนักเรียนทุกโรงเรียน รวมทั้ง หลังอบรมเสร็จให้สอบทำใบขับขี่ให้แล้วเสร็จโดยต้องผ่านตามมาตรฐานของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ทุกอย่าง เพื่อสอนให้นักเรียนรู้จักระเบียบวินัยและการขับรถที่ถูกต้อง ตลอดจนผู้ปกครองและคุณครูต้องช่วยกันดูแลบุตรหลานที่ขับรถจักรยานยนต์ไปโรงเรียนด้วย

นอกจากนี้ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าหากสวมหมวกกันน็อกทำให้ช่วยลดการสูญเสียชีวิตจากการเกิดอุบัติเหตุลง 42% และลดการบาดเจ็บ 69-70% ดังนั้นการสวมหมวกกันน็อกเป็นเรื่องที่สำคัญมากซึ่งมอบหมายให้ ขบ. ไปหารือกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อทำโครงการร่วมกันให้ข้อมูลเรื่องดังกล่าวแก่นักเรียน

นายอาคมกล่าวต่อว่าจากความร่วมมือกับกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (MLIT)ได้ดำเนินแผนปรับปรุงสภาพแวดล้อมและถนนให้มีความปลอดภัย รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยเพิ่มขึ้น อาทิ ราวกั้นถนน ติดตั้งป้ายเตือนขับรถเร็วทั้งกลางวันและกลางคืน ตีเส้น ใช้สัญลักษณ์ โดยนำร่องถนนที่เป็นจุดเสี่ยง 4 จังหวัด ได้แก่ จ.สุพรรณบุรี, เพชรบูรณ์, อุตรดิตถ์ และขอนแก่น และขยายพื้นที่นำร่องอีก 8 จังหวัด

สำหรับถนนของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ที่มีจุดเสี่ยง 132 จุดได้ผล 100% ในช่วงปีใหม่และสงกรานต์ ที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุแค่ 1 ครั้งแต่ไม่รุนแรง ส่วนถนนในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) การติดตั้งป้ายเตือนรถความเร็วเป็และมีการนำกล้องตรวจจับความหนาแน่นหรือความถี่ของการเกิดอุบัติเหตุจากนั้นนำมาวิเคราะห์สาเหตุ

อย่างไรก็ตามไทยจะหารือกับบริษัทจำหน่ายรถให้โฆษณาเรื่องความปลอดภัยในรถมากกว่าสมรรถนะในรถ เพื่อผู้ใช้รถได้ตระหนักถึงความปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วย