posttoday

สนช.ดันกฎหมายตั้งคณะกก.ข้าวกำหนเนโยบาย-ยุทธศาสตร์ข้าวของประเทศ

08 สิงหาคม 2561

สนช.ดันกกฎหมายข้าวตั้งคณะกรรมการรื้อทั้งระบบ เผยวางหลักช่วยชาวนาไม่ให้ถูกเอาเปรียบ

สนช.ดันกกฎหมายข้าวตั้งคณะกรรมการรื้อทั้งระบบ เผยวางหลักช่วยชาวนาไม่ให้ถูกเอาเปรียบ

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)คนที่ 2 เปิดเผยว่า ขณะนี้นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สนช. และสมาชิกสนช. 25 คน ร่วมกันเสนอร่างพระราชบัญญัติข้าว ฉบับที่ พ.ศ....ว่า กฎหมายดังกล่าวจะกำหนดให้มี “คณะกรรมการข้าว” หรือคกข. โดยเบื้องต้นประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี รองนายกฯ รัฐมตรีที่ได้รับมอบหมาย ไปจนถึงอธิบดีที่เกี่ยวข้อง และมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดนโยบายและยุทธ์ศาสตร์ข้าวของประเทศ มาช่วยพัฒนาห่วงโซ่การผลิต การตลาด การส่งออกข้าว ให้เพียงพอต่อการบริโภค แข่งขันกับต่างประเทศ วางระบบคุ้มครองชาวนาให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวเสื่อมคุณภาพ หรือเมล็ดข้าวปลอมปน ห้ามโฆษณาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวอันเป็นเท็จ หรือไม่ตรงกับความจริง ทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อ

นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่สำคัญร่างกฎหมายดังกล่าวยังวางหลักป้องกันการลักลอบนำข้าวหรือข้าวเปลือกนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายด้วย ถ้าตรวจสอบพบให้เจ้าหน้าที่ยึดและทำลาย ณ สถานที่และเวลาที่ตรวจพบได้ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกด้วย ทั้งนี้ เราจะลงไปรับฟังความเห็นชาวนาทั่วประเทศระหว่างวันที่ 13-15 ส.ค.ที่จ.ชลบุรี มีการเชิญชาวบ้านมาประมาณ 1,000 คน ทั้งชาวนาและผู้ค้าเพื่อมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันด้วย

ด้านนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกสนช. ในฐานะผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติข้าว กล่าวว่า ถือเป็นกฏหมายปฏิวัติและพัฒนาวงจรข้าวอย่างครบวงจรทั่วประเทศ มุ่งให้ความเป็นธรรมชาวนา ดูแลทั้งเมล็ดพันธุ์ ที่ดิน เกี่ยวโยงกับการเกษตรแปลงใหญ่ที่รัฐบาลสนับสนุนอยู่ด้วย รวมถึงเกี่ยวข้องกับการใช้เคมี ผู้รับจ้างหว่านข้าวด้วย ทั้งนี้ ตนเป็นเกษตรกรเก่า เคยยากลำบาก เข้าใจหัวอกชาวนา รู้ปัญหาที่ไม่เป็นธรรม

นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้มองว่าโรงสีเป็นยักษ์เป็นมาร แต่เราต้องวางกรอบความเป็นธรรมให้เป็นมาตรวัดได้ในกรอบที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ว่ากฎหมายนี้ออกไปแล้วชาวนาจะปลดหนี้สินได้เลยทันที แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นของใบเบิกทางให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ นอกจากนี้เราจะดูเรื่องพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกด้วย ไม่ได้ไปบังคับ แต่จะให้ความรู้ ถ้าใครสมัครใจก็จะมีคนให้คำปรึกษา เน้นการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวมีคุณภาพ อาศัยความร่วมมือจากศูนย์ข้าวชุมชนกว่า2,000 แห่งเพื่อสร้างแบรนด์ข้าวสำหรับพื้นที่นั้นๆ