posttoday

แย้มทีโออาร์ไฮสปีดอีอีซียันโปร่งใส ผู้ชนะต้องอุ้มหนี้แอร์พอร์ตลิงค์

08 สิงหาคม 2561

รฟท.เปิดเงื่อนไขลงทุนรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ปัดล็อกสเปก ชวนต่างชาติลงทุนแบบเปิดกว้าง

รฟท.เปิดเงื่อนไขลงทุนรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ปัดล็อกสเปก ชวนต่างชาติลงทุนแบบเปิดกว้าง

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เงื่อนไขการเปิดประมูล (ทีโออาร์) โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน ไม่มีการล็อกสเปกให้ใครแน่นอน โดยเงื่อนไขต่างๆ กำหนดขึ้นตามคำสั่งของกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่ระบุว่าการเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซีต้องเป็นแบบเปิดกว้างแบบนานาชาติ (International Bidding)

ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงได้นำหลักการดังกล่าวประกอบการจัดทำเอกสารคัดเลือกเอกชน และมีบริษัทเอกชนต่างชาติมาซื้อเอกสาร จำนวน7 ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น 4 บริษัท ฝรั่งเศส 2 บริษัท มาเลเซีย 2 บริษัท อิตาลี 1 บริษัท และเกาหลีใต้ 1 บริษัท

นอกจากนี้ ยังกำหนดไว้ว่าเอกชนที่ชนะการประมูลจะต้องเข้ามาบริหารโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งปัจจุบันมีหนี้สะสม 33,229 ล้านบาท และขาดทุนต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 300 ล้านบาท เพราะหากปล่อยให้ รฟท.บริหารต่ออาจเป็นหนี้สะสมเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ถ้าบริหารโดยเอกชนจะไม่ขาดทุน ขณะเดียวกันรัฐบาลยังให้เอกชนต้องจ่ายสิทธิการบริหารแอร์พอร์ตลิงค์ให้ รฟท.ไม่น้อยกว่า 10,671 ล้านบาท โดยคิดจากค่าเสียโอกาสรายได้ หาก รฟท.ดำเนินโครงการเองและเอกชนที่เข้ามาบริหารต้องเพิ่มการลงทุนและประสิทธิภาพบริการ ให้สอดรับกับความต้องการของประชาชน

สำหรับที่ดินมักกะสันที่ต้องยกให้เอกชน 150 ไร่นั้นเป็นเงื่อนไขแบบให้เช่ารวมระยะเวลาในการก่อสร้างเป็นระยะเวลา 50 ปีเท่านั้น โดยพื้นที่ดังกล่าวได้มาจากการเวนคืนก่อนปี 2521 ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวนอกเหนือจากการขนส่งได้ โดย รฟท.จะได้ค่าเช่าตลอดอายุสัญญาประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับผลศึกษากรณีที่ รฟท.จะดำเนินการเอง

อย่างไรก็ตาม ด้านราคาประเมินที่ดินที่มักกะสันเป็นการประเมินจาก 2 สถาบัน และใช้อัตราสูงสุดซึ่งเป็นราคาตลาดเฉลี่ยรวมของพื้นที่รายแปลงย่อยทั้งหมด ซึ่ง รฟท.ให้ที่ปรึกษาใช้ผู้ประเมินที่มีวิชาชีพประเมินราคาตามกฎหมายเป็นผู้ประเมิน

ขณะที่ นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ของสนามบินขอนแก่น ได้สรุปเอกชนผู้ชนะประมูลแล้วได้แก่ บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) หรือ CNT ซึ่งเสนอราคาต่ำสุดที่วงเงินรวม 2,004 ล้านบาท จะมีการลงนามสัญญาในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อเริ่มก่อสร้างเดือน ต.ค. ใช้เวลาการก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 2564 เพิ่มปริมาณรองรับผู้โดยสารอีก 78% หรือราว 5 ล้านคน/ปี จากปัจจุบัน 2.8 ล้านคน/ปี

แหล่งข่าวจากกรมท่าอากาศยาน ระบุว่า ภายในเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ จะมีการเปิดประมูลงานพัฒนาสนามบินภาคใต้ 2 แห่ง วงเงิน 3,800 ล้านบาท แบ่งเป็น สัญญาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 พร้อมก่อสร้างลานจอดเครื่องบินใหม่และขยายรันเวย์จาก 2,100 เมตร เป็น 2,500 เมตร ภายในสนามบินตรัง วงเงิน 2,000 ล้านบาท และสัญญาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และขยายรันเวย์จาก 2,100 เมตร เป็น 2,500 เมตร ภายในสนามบินนครศรีธรรมราช วงเงินราว 1,800 ล้านบาท จะลงนามสัญญาต้นปี 2562