posttoday

รอชงคมนาคมเคาะค่าโดยสารแท็กซี่-รถเมล์

03 สิงหาคม 2561

ชง "อาคม" เคาะปรับขึ้นค่าโดยสารรถเมล์-รถแท็กซี่ เดือน ส.ค. ขณะที่ ปตท.ปัดอุ้มค่าเชื้อเพลิงรถเมล์ ขสมก.อ้างค่าใช้จ่ายพุ่ง

ชง "อาคม" เคาะปรับขึ้นค่าโดยสารรถเมล์-รถแท็กซี่ เดือน ส.ค. ขณะที่ ปตท.ปัดอุ้มค่าเชื้อเพลิงรถเมล์ ขสมก.อ้างค่าใช้จ่ายพุ่ง

นายเชิดชัย สนั่นศรีสาคร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สรุปผลศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างค่าโดยสารสาธารณะแล้ว คาดว่าภายในเดือน ส.ค.นี้ จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายขนส่ง ซึ่งมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธาน เพื่อพิจารณาแนวทางการปรับโครงสร้างค่าโดยสารใหม่ หลังจากนั้นจะเสนอตามขั้นตอนให้คณะกรรมการชุดอื่นกลั่นกรองต่อไป ดังนั้นภายในปีนี้คงได้เห็นความชัดเจนของโครงสร้างราคาใหม่

ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคมยื่น ข้อเสนอให้กับ บริษัท ปตท. อุดหนุนค่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ให้กับรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่บริการรับใช้ประชาชน ในรูปแบบการลดราคาค่าก๊าซเหลือ 10 บาท/กิโลกรัม (กก.) จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 14.29 บาท/กก. ล่าสุดได้รับรายงานว่าทาง ปตท.ตอบปฏิเสธ เนื่องจากเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ซึ่งหลังจากนี้ต้องรายงานฝ่ายนโยบายเพื่อหาแนวทางอื่นต่อไป

ด้าน นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิส ติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า แนวทางการคิดค่ารถแท็กซี่และรถเมล์ใหม่นั้นเน้นไปที่การปรับราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงในปัจจุบัน จึงมีทางเลือกการปรับราคาหลายรูปแบบ เช่น การคิดค่าโดยสารตามเวลาเดินทาง หรือการคำนวณค่าโดยสารเพิ่มเมื่อการจราจรติดขัด

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ค่าโดยสารรถเมล์ในปัจจุบันไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งค่าเชื้อเพลิง ค่าจ้างและค่าซ่อมบำรุง เป็นต้น ส่งผลให้ต้องลดต้นทุนดำเนินธุรกิจเดินรถจนคุณภาพบริการตกต่ำประชาชนไม่ใช้บริการ และทำให้กระทบรายได้ต่อเนื่อง สุดท้ายต้องทยอยเลิกกิจการ

อย่างไรก็ตาม ได้เสนอปรับโครงสร้างค่าโดยสารรถเมล์เพิ่มขึ้น 10-15% จากราคาปัจจุบัน ขณะที่ผลศึกษาการปรับค่าโดยสารรถแท็กซี่นั้นจะปรับเพิ่มขึ้น 10% โดยแยกค่าใช้จ่ายเป็นสองส่วน 1.ค่าโดยสารตามระยะทาง 2.ค่ารถติด 50 สตางค์/นาที ใช้วิธีคิดราคาตามเวลาที่เดินทางจริงร่วมกับเวลารถติด