posttoday

เอกชนผนึกรัฐดันรายย่อย สร้างแบรนดิ้ง

02 สิงหาคม 2561

ความสำคัญของการตลาดในปัจจุบันเป็นการยกระดับศักยภาพทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในทุกธุรกิจให้ประสบความสำเร็จต่อยอดจากองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิม

ความสำคัญของการตลาดในปัจจุบันเป็นการยกระดับศักยภาพทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในทุกธุรกิจให้ประสบความสำเร็จต่อยอดจากองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิม

*************************

โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์

ความสำคัญของการตลาดในปัจจุบันถือได้ว่าเป็นการยกระดับศักยภาพทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในทุกธุรกิจให้ประสบความสำเร็จต่อยอดจากองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิม

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. ในฐานะนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของยุคอะนาล็อกสู่ยุคดิจิทัลส่งผลให้การทำธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป นับเป็นความท้าทายในแง่ของการทำการตลาด ซึ่งแนวทางในการทำการตลาดแบบเดิมนั้นต้องมีการพัฒนาให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน

นอกจากนี้ การตลาดในยุคนี้เป็นยุคที่บริษัทและองค์กรต่างๆ ต้องอาศัยความร่วมมือกัน ส่วนนิยามของการตลาดและบทบาทของนักการตลาดเปลี่ยนไป ส่งผลให้ต้องเกิดการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

ทั้งนี้ จากผลสำรวจด้านขีดความสามารถด้านการตลาดของประเทศไทยในระดับโลกอยู่ในระดับท้ายๆ เนื่องจากธุรกิจในประเทศไทยยังถูกขับเคลื่อนด้วยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งอาจจะยังไม่ได้มุ่งเน้นในการทำการตลาดมากนัก

สำหรับสมาคมฯ ภายใต้การบริหารของตนหลังจากนี้จะมีการทำงานร่วมกับภาครัฐ อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในการผลักดันและยกระดับผู้ประกอบการด้วยการส่งเสริมองค์ความรู้ในแง่ของการตลาด

ขณะที่ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้ผลิตและประเทศด้านการเกษตร จะต้องมีการสร้างจุดขายเพื่อให้ทั่วโลกเป็นที่รู้จักด้วยการทำ “ไทยแลนด์แบรนดิ้ง” ซึ่งมองว่าไทยน่าจะเป็นศูนย์ กลางของการท่องเที่ยวและสินค้าบริการที่มีจุดเด่น แต่จะต้องสนับสนุนด้านการตลาดเพื่อให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

“ตัวอย่างการทำให้เป็นที่รู้จักคือ คนที่รู้จักเกาหลี รู้จักจากสินค้าหรือเคป๊อปก่อนที่จะรู้จักประเทศเสียอีก ขณะที่ สิงคโปร์ ก็รู้จักกันในฐานะตัวกลางและแหล่งร่วมสินค้า ดังนั้น ไทยต้องหาสินค้าแชมเปี้ยนเพื่อให้คนรู้จักไทยเช่นกัน” อรรถพล กล่าว

แม้ว่าปัจจุบัน ปตท. เป็นแบรนด์ระดับโลกที่ติดอันดับ ฟอร์จูน 500 ซึ่งเป็นที่รู้จักตัวบริษัท แต่ยังไม่ได้รู้จักในฐานะแบรนด์ไทย กระทั่งล่าสุดได้ก่อตั้ง บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (พีทีทีโออาร์) ซึ่งบริษัทดังกล่าวจะเป็นไทยแลนด์แบรนดิ้ง ด้วยการผลักดัน ร้านกาแฟ “คาเฟ่ อเมซอน” ให้เป็นโกลบอลแบรนด์ภายใน 5-10 ปีจากนี้

อรรถพล กล่าวว่า พีทีทีโออาร์จะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเปิดให้คนไทยได้ถือหุ้นและเป็นเจ้าของได้โดยทั่วกัน และจะลดบทบาทของ ปตท.ในการถือหุ้นลดลงจาก 50% ลงมา เพื่อกระจายให้อย่างทั่วถึงรายย่อย

ด้านแผนธุรกิจ คาเฟ่ อเมซอน จากนี้จะมีสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นแห่งทั่วโลกภายใน 5-10 ปี จากปัจจุบันมีจำนวน 2,300-2,400 สาขา ใน 9 ประเทศ​รวมประเทศไทย เริ่มจากในอาเซียนจากนั้นขยายไปจีนและทวีปอื่นๆ ในรูปแบบการร่วมทุน การขายมาสเตอร์แฟรนไชส์ หรือการลงทุนเอง ตามความเหมาะสม