posttoday

ระดับน้ำชี-มูลเริ่มล้นตลิ่งหลังฝนตกหนัก กรมชลฯเร่งระบายลงสู่แม่น้ำโขง

02 สิงหาคม 2561

"กฤษฏา" สั่งเฝ้าระวังอุทกภัยหลังระดับน้ำชี –มูล เริ่มล้นตลิ่ง กรมชลประทานเร่งระบายลงสู่แม่น้ำโขง

"กฤษฏา" สั่งเฝ้าระวังอุทกภัยหลังระดับน้ำชี –มูล เริ่มล้นตลิ่ง กรมชลประทานเร่งระบายลงสู่แม่น้ำโขง

นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าได้สั่งการผ่านระบบประชุมทางไกลทุกจังหวัด ในเรื่องบริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัย โดยฉพาะในพื้นที่เฝ้าระวังที่เกิดภัยซ้ำซาก ทั้งในภาคเหนือละจังหวัดริมแม่น้ำโขง โดยให้กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ พร้อมประสานกับหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ช่วยเหลือดูแลเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วม สำรวจความเสียหายจากน้ำท่วม ดินโคลนถล่มและเยียวยาเกษตรกร โดยเฉพาะการช่วยเหลือฟื้นฟูอาชีพ เช่นการจัดหาปัจจัยการผลิตให้คำนึงถึงคุณภาพและปริมาณ การตัดซื้อต้องถูกต้องตามกฎหมายและให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดในพื้นที่ประสบอุทกภัยได้เรียกประชุมอนุกรรมการพัฒนาการเกษตร( อพก.)จังหวัดเพื่อจัดทำแผนการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า ลงพื้นที่โครงการแก้มลิงกุดไผท ตำบลระแงง อำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการ และการเตรียมความพร้อมในการรองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งโครงการนี้ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ให้กรมชลประทาน สำนักงาน กปร. และมูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกันพิจารณาจัดหาน้ำช่วยเหลือกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ในพื้นที่บ้านหนองไผ่ ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ โครงการชลประทานสุรินทร์ จึงได้ทำการขุดลอกลำห้วยไผท เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวมีน้ำใช้อุปโภค-บริโภค และส่งไปยังพื้นที่การเกษตรเพื่อกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 1,500 ไร่ นอกจากนั้นได้กำชับให้แต่ละพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกต่อเนื่องในขณะนี้เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำทั่วประเทศ หลังเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคอีสาน ส่งผลให้ระดับน้ำในลำห้วยธรรมชาติ และแม่น้ำต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำชี-มูล มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นหลายแห่ง จนทำให้เกิดน้ำท่วมขังและน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ ปัจจุบัน มีพื้นที่ที่ได้ผลกระทบ ในจังหวัดยโสธร ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี นครพนม และสกลนคร ซึ่งกรมชลฯได้จัดจราจรน้ำในแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล ด้วยการเปิดบานระบายน้ำของเขื่อนต่างๆในแม่น้ำชีทุกแห่ง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่ที่เสี่ยงภัย เพื่อเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำชี ให้ไหลลงแม่น้ำมูลออกสู่แม่น้ำโขงโดยเร็ว พร้อมลดบานระบายน้ำเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เพื่อชะลอน้ำจากแม่น้ำมูลและควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบบริเวณด้านเหนือเขื่อนราษีไศล หากปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลมาจากจังหวัดนครราชสีมา, บุรีรัมย์ และสุรินทร์ มีปริมาณมาก จะดำเนินการยกบานระบายน้ำขึ้นทันที เพื่อลดผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณด้านเหนือเขื่อน

ทั้งนี้สถานการณ์ล่าสุด 2ส.ค.61 จังหวัดยโสธร เกิดฝนตกหนัก ในพื้นที่ ทำให้น้ำจากลำน้ำลำเซบายเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร 5 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.ไทยเจริญ อ.ป่าติ้ว อ.กุดชุม และอ.คำเขื่อนแก้ว พื้นที่ได้รับผลกระทบ3.7 หมื่นไร่ น้ำในลุ่มน้ำลำเซบายที่สถานี M.32 อ.ป่าติ้ว มีปริมาณน้ำ 340 ลบ.ม./วินาที สูงกว่าตลิ่ง 1 เมตร แนวโน้มระดับน้ำทรงตัว ส่วนลุ่มน้ำชี ที่ ต่ำกว่าตลิ่ง 0.47 เมตร กรมชลฯ เร่งการระบายน้ำผ่านเขื่อนลำเซบาย

จังหวัดร้อยเอ็ด น้ำในลำน้ำยังไหลเข้าท่วมพื้นที่ริม 2 ฝั่ง ส่งผลให้มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยบริเวณ อ.เสลภูมิ รวมพื้นที่ประสบอุทกภัยประมาณ 17,000 ไรj

สถานการณ์การน้ำในลำน้ำยัง ปัจจุบัน(2 ส.ค. 61) ที่สถานีวัดน้ำ E.92 บ้านท่างาม อ.เสลภูมิ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 687 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 2.22 เมตร ระดับน้ำลดลง ทั้งนี้โครงการชลประทานร้อยเอ็ด ได้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำบริเวณพื้นที่ที่เคยซ่อมพนังกั้นน้ำลำน้ำยัง พร้อมนำรถ backhoe จำนวน 6 คัน รถบรรทุก 8 คัน ไปยังบริเวณจุดเสี่ยงที่มีน้ำปะทะพนัง และประสานกรมทางหลวงเพื่อตัดถนนเส้นทางหลวง 2259 สายเสลภูมิ - คำพล ยาว 50 เมตร เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่แม่น้ำชีตอนล่างมายังแม่น้ำมูล และไหลลงสู่แม่น้ำโขงตามลำดับ

จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ได้รับผลกระทบท่วมจำนวน 7 อำเภอ รวมพื้นที่ประมาณ 270 ไร่ เนื่องจากสถานการณ์น้ำบริเวณเขื่อนธาตุน้อย อ.เขื่องใน ปัจจุบัน(2 ส.ค. 61)มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 916 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนธาตุน้อยสูงกว่าระดับควบคุม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งบริเวณ ต.ค้อทอง อ.เขื่องใน ได้ จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดไว้ด้วย ส่วนลุ่มน้ำชี บริเวณสถานีวัดน้ำ E.98 อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ล่าสุด(เวลา 12.00 น. วันที่ 2 ส.ค. 61) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 804 ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 0.78 เมตร มีแนวโน้มทรงตัว

จังหวัดนครพนม จากฝนที่ตกสะสมในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 15 - 28 ก.ค. 61 วัดปริมาณฝนสะสมได้ 453.5 มิลลิเมตร ส่งผลให้มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 8 อำเภอ รวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 128,098 ไร่โครงการชลประทานนครพนม เร่งให้ความช่วยเหลือโดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 3 เครื่อง บริเวณ อ.เมือง และเครื่องผลักดันน้ำบริเวณประตูระบายน้ำต่างๆ รวมจำนวน 14 เครื่อง หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติมในพื้นที่ คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 7 วัน

จังหวัดสกลนคร เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ อ.เมืองสกลนคร ทำให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมขังจำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.โคกศรีสุพรรณ อ.พรรณนิคม และอ.โพนนาแก้ว รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบประมาณ 9 พันไร่ โครงการชลประทานสกลนคร จึงได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 3 เครื่อง บริเวณหนองสนม อ.เมือง 1 เครื่อง และบริเวณโรงบำบัดน้ำเสียสกลนคร 2 เครื่อง พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 6 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำบ้านหนองบึง และบริเวณอ.โพนนาแก้ว เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด