posttoday

น้ำมันขาขึ้นดันค่าภาคหลวงปี'61แตะ4.3หมื่นล้าน

01 สิงหาคม 2561

กรมเชื้อเพลิงฯ กวาดค่าภาคหลวง 6 เดือนแรกกว่า 2 หมื่นล้าน ตั้งเป้าทั้งปีสูงกว่าปีก่อน ผลจากราคาน้ำมันดิบพุ่งต่อเนื่อง

กรมเชื้อเพลิงฯ กวาดค่าภาคหลวง 6 เดือนแรกกว่า 2 หมื่นล้าน ตั้งเป้าทั้งปีสูงกว่าปีก่อน ผลจากราคาน้ำมันดิบพุ่งต่อเนื่อง

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรม เชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เปิดเผยว่า สถิติการเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมของประเทศ 6 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.-มิ.ย.) อยู่ที่ 2.19 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ส่งเข้าท้องถิ่น 1,079 ล้านบาท และส่งเข้าคลัง 2.08 หมื่นล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าทั้งปีนี้ ค่าภาคหลวงจะอยู่ที่ 4.2-4.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีค่าภาคหลวงอยู่ที่ 4.02 หมื่นล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ในอนาคตประเทศไทยมี ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพื่อนำมาทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่จะทยอยลดลงเหลือ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟุต) ต่อวัน ในปี 2565 จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3,800 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน ขณะที่แหล่งก๊าซจากเมียนมาจะหมดสัญญาลงในปี 2570 โดยกระทรวงพลังงานได้เตรียมความพร้อมเพื่อนำเข้าแอลเอ็นจี ซึ่งได้ให้บริษัท ปตท. เพิ่มส่วนขยายคลังรับแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน/ปี

ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะทดลองนำเข้าแอลเอ็นจีไม่เกิน 1.5 ล้านตัน/ปี โดยเริ่มในปี 2562  ซึ่งมีแผนจะเริ่มนำเข้าล็อตแรก 1 หมื่นตันช่วงปลายปีนี้ แต่ยังมีปัญหาเรื่องราคาก๊าซและปริมาณนำเข้า เพราะเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวในแถบยุโรปและสหรัฐ จะทำให้ราคา แอลเอ็นจีปรับสูงขึ้น หากนำเข้ามาในปริมาณไม่มากจะได้ราคาที่สูงเมื่อเทียบกับการนำเข้าล็อตใหญ่ ซึ่งเตรียมนำประเด็นนี้หารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ราคานำเข้าแอลเอ็นจีของ กฟผ.อีกครั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า การประชุม กพช.ในวันที่ 3 ส.ค.นี้ กระทรวงพลังงานเตรียมนำเสนอ 3 ประเด็นเข้าสู่การพิจารณา คือ 1.ทบทวนแผนการนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน/ปีของ กฟผ.ในปีนี้ 2.เสนอขออนุมัติแผนจัดหาก๊าซระยะยาวของ ปตท. จากโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ปริมาณ 2.6 ล้านตัน/ปี ตั้งเงื่อนไขห้ามนำก๊าซดังกล่าวเข้ามาคำนวณในระบบรวม (พูลก๊าซ) และ 3.การจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (พีดีพี 2018)